รีเซต

หมอนิธิพัฒน์ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ "ปอดอักเสบโควิด" ที่ปชช.ต้องรู้

หมอนิธิพัฒน์ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ "ปอดอักเสบโควิด" ที่ปชช.ต้องรู้
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2564 ( 14:19 )
145
หมอนิธิพัฒน์ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ "ปอดอักเสบโควิด" ที่ปชช.ต้องรู้

วันนี้( 29 ก.ค.64) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "หากใครชื่นชอบการ์ตูนเณรน้อยเจ้าปัญญาในอดีต คงจำกันได้ถึงภาพติดตาท่าทางน่ารักน่าชังของอิ๊กคิวซังตัวเอกในเรื่อง ในยามที่ภาคการแพทย์และฝ่ายบริหารรัฐไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง จำเป็นที่ประชาชนจะต้องเรียนรู้และดูแลรักษาตัวเองให้รอดพ้นจากปอดอักเสบโควิด ขอเริ่มซีรีส์ไขข้อข้องใจจากคำถามที่มักได้รับมาอยู่บ่อยๆ

ปุจฉา-วิสัชนา: ปอดอักเสบโควิดสำหรับประชาชน ตอนที่ 1

ปุจฉา: ปอดอักเสบโควิดพบได้มากน้อยแค่ไหนและมีความสำคัญอย่างไร

วิสัชนา: เชื้อไวรัสโคโรนา-2019 มีความชื่นชอบระบบการหายใจของมนุษย์เป็นพิเศษ โดยมีคุณสมบัติการทะลุทะลวงลงไปถึงแขนงหลอดลมฝอยและถุงลมปอดได้ง่าย ทำให้ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเกิดปอดอักเสบมากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะตรวจพบด้วยวิธีการใด แต่จะมีผู้ป่วยราว 50% เกิดปอดอักเสบที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยมี 5% ที่ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงวิกฤต ทั้งนี้มีผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2% ซึ่งนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่ 1%

ปุจฉา: แล้วมันต่างจากปอดอักเสบจากเชื้อทั่วไปตรงไหน

วิสัชนา: เจ้าไวรัสตัวนี้นอกจากจะทำให้เกิดปอดอักเสบเช่นเดียวกับเชื้อโรคอื่นแล้ว มันยังมีลักษณะพิเศษที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราให้ทำงานอย่างรุนแรงเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสนี้ แม้เมื่อเทียบกันแล้วอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับเชื้อโรคบางชนิด แต่เนื่องจากมันถูกกำจัดไปจากร่างกายมนุษย์ได้ยาก จึงทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไปของร่างกายเรานี้แสดงออกอยู่เป็นเวลานานกว่าเชื้ออื่น ส่งผลให้มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของระบบการหายใจเป็นหลัก และตามมาด้วยการทำงานบกพร่องของระบบร่างกายอื่นตามมาได้ นอกจากนั้นเชื้อนี้ยังมีความสามารถในการรุกล้ำเส้นเลือดทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเกิดการขาดเลือดของอวัยวะสำคัญๆ ตามมาได้ 

ปุจฉา: ระยะเวลาการเกิดปอดอักเสบยาวนานแค่ไหนและแพทย์รักษาอย่างไร

วิสัชนา: ในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ จะเกิดปอดอักเสบได้ตั้งแต่ 3-5 วันเป็นต้นไป ลักษณะจะคล้ายปอดอักเสบติดเชื้ออื่น เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สองจะเกิดปอดอักเสบได้อีกระลอกจากภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไป 

ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและมีการเสียชีวิตตามมา และถ้าผ่านไปถึงสัปดาห์ที่สาม อาจเกิดปอดอักเสบอีกแบบหนึ่งจากการที่ร่างกายพยายามฟื้นฟูปอด ในผู้ป่วยแต่ละรายอาจเกิดปอดอักเสบชนิดคาบเกี่ยวกันได้ โดยที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาจะทำให้เกิดปอดอักเสบทุกระยะเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์แอลฟา ดังนั้นแพทย์จึงมีหลักการรักษาคือ การให้ยาต้านไวรัสในช่วงแรก โดยพิจารณาให้ยารักษาสมดุลภูมิต้านทานของร่างกายร่วมด้วยในรายที่มีอาการรุนแรง และเมื่อเข้าระยะสุดท้ายจึงเป็นการให้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาทั้งสามระยะ สิ่งที่สำคัญคือการให้ออกซิเจนเมื่อมีข้อบ่งชี้ เริ่มจากออกซิเจนอัตราไหลต่ำ ตามด้วยออกซิเจนอัตราไหลสูง (ไฮโฟลว์) และสุดทางที่การใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่มีน้อยรายที่ได้ไปต่อด้วยการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (เอ็คโม)"


"ตอนที่ 2 ปุจฉาวิสัชนาโควิดสำหรับประชาชน 

ปุจฉา: แพทย์วินิจฉัยปอดอักเสบโควิดได้อย่างไรและเราจะสังเกตตัวเองที่บ้านได้ไหม

วิสัชนา: แพทย์จะอาศัยประวัติการมีไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ประกอบกับการพบฝ้าขาวในเอกซเรย์ปอด สำหรับผู้ที่สังเกตอาการของตัวเองอยู่ที่บ้าน ทั้งที่รู้ว่าติดโควิดแล้วแต่แพทย์ให้รักษาตัวเองนอกโรงพยาบาล หรือเป็นผู้มีความเสี่ยงแต่ยังไม่ได้ตรวจ หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ท่านอาจเกิดปอดอักเสบโควิดแล้ว คือ 

1. ไข้เกิน 38.5 องศา เป็นเวลา 2 วัน หรือ 

2. หายใจเหนื่อยหรือหายใจเร็วกว่า 22 ครั้งต่อนาที หรือ

3. เจ็บหน้าอกเวลาสูดหายใจลึกหรือเวลาไอ 

เมื่อแพทย์วินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นปอดอักเสบแพทย์จะเริ่มให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ แล้วส่วนใหญ่จะให้รักษาตัวในโรงพยาบาล หรืออาจให้รักษานอกโรงพยาบาลได้ถ้าเราแข็งแรงดีและดูแลตัวเองได้ จากนั้นจึงประเมินว่าปอดอักเสบมีความรุนแรงต้องให้ออกซิเจนร่วมรักษาด้วยหรือไม่ โดยพิจารณาจากการวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจากจังหวะการเต้นของเส้นเลือด (oxygen saturation from pulse oximetry ต่อไปจะเรียกย่อว่า วัดแซต) ซึ่งถ้าในขณะอยู่นิ่งถ้ามีค่าตั้งแต่ 94% ลงไป จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจนเสริม

ปุจฉา: การวัดแซตมีประโยชน์อย่างอื่นอีกหรือไม่

วิสัชนา: เมื่อพบว่าเป็นปอดอักเสบโควิดแล้ว แพทย์จะพิจารณาว่าวัดแซตในขณะอยู่นิ่งได้เท่าไร ถ้าพบว่ามีค่าตั้งแต่ 95% ลงไป หรือถ้ามีค่าตั้งแต่ 96% ขึ้นไป แต่ลดลงอย่างน้อย 3% เมื่อออกแรงโดยเดินเร็วๆ ราว 3 นาที หรือลุกนั่งซ้ำๆ ติดต่อกันราว 1 นาที แสดงว่าการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดผิดปกติมาก จำเป็นต้องให้ยาต้านการอักเสบเพื่อปรับสมดุลภูมิคุ้มกันตอบสนองของร่างกายให้พอเหมาะ ด้วยการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ซึ่งจะเป็นเดกซาเมทธาโซนหรือเพรดนิโซโลนก็ได้ โดยจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์คู่กับสเตียรอยด์นี้นาน 10 วัน สำหรับคนที่มีโรคเบาหวานชนิดควบคุมได้ยากหรือมีปัญหาอาเจียนเป็นเลือดเพิ่งหายไม่นาน ต้องแจ้งแพทย์เพราะอาจเกิดอันตรายจากการได้รับยาสเตียรอยด์ 

ทั้งนี้เครื่องมือที่ใช้วัดแซตมักใช้จับที่ปลายนิ้ว ส่วนใหญ่เป็นนิ้วชี้ ควรเป็นเครื่องมือชนิดที่ทางโรงพยาบาลจัดส่งให้หรือชนิดที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นิ้วที่ใช้วัดต้องไม่มีการผิดรูปหรือทาสีเล็บหนามาก และขณะวัดมือและนิ้วต้องอยู่นิ่งไม่แกว่งไปมา 

ปุจฉา: ในกรณีรักษาโรคโควิด-19 ที่บ้านจะมียาต้านไวรัสอะไรบ้าง

วิสัชนา: ในกรณีที่ไม่พบว่าเกิดปอดอักเสบในตอนแรก หรือยังไม่ได้ตรวจเอกซเรย์ปอด การกินยาฟ้าทะลายโจรในรูปแบบและขนาดที่โรงพยาบาลแนะนำ สามารถช่วยลดปริมาณไวรัสลงได้ และอาจช่วยยับยั้งการเกิดปอดอักเสบหรือช่วยลดความรุนแรงของปอดอักเสบ สำหรับคนที่มีโรคตับอยู่ก่อนต้องระมัดระวังการใช้ยาฟ้าทะลายโจรด้วย แต่ถ้าตรวจพบว่าเกิดปอดอักเสบขึ้นแล้วแพทย์จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทดแทน เพราะถ้าให้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันจะเกิดตับอักเสบได้ง่ายขึ้น ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ปลอดภัยเมื่อใช้ในขนาดที่แพทย์แนะนำ ผลข้างเคียงที่พบน้อยมากแต่มีความสำคัญทำให้ต้องหยุดยา คือ ตับอักเสบและหัวใจเต้นผิดจังหวะ สำหรับยาที่ยังอยู่ในช่วงทดลองว่าอาจมีฤทธิ์ลดไวรัสหรือชะลอการอักเสบของปอดได้แต่ยังไม่ได้รับการรับรอง เช่น ไอเวอร์เมคติน หรือ ฟลูวอกซามีน หรือ บูเดโซไนด์ขนิดพ่นสูด ต้องใช้อย่างระมัดระวังภายใต้การดูแลใกล้ชิดของแพทย์"


ตอนที่ 3 ปุจฉาวิสัชนาโควิดสำหรับประชาชน (ตอนสุดท้าย) 

ปุจฉา: การใช้ออกซิเจนที่บ้านต้องระวังอะไรบ้าง

วิสัชนา: อย่างแรกเลยคือต้องใช้ตามเกณฑ์ (อ่านได้จากตอนที่ 2) หรือตามที่แพทย์ที่รับผิดชอบการรักษาที่บ้านเป็นผู้แนะนำ การใช้ออกซิเจนโดยไม่มีข้อบ่งชี้จะทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะสำคัญ เนื่องจากระดับออกซิเจนในระดับเนื้อเยื่อที่สูงเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวต่อเนื้อเยื่อนั้นเอง เมื่อมีข้อบ่งชี้แพทย์จะแนะนำให้ใช้ออกซิเจนภายใต้การติดตามใกล้ชิดด้วยการวัดแซต (อ่านได้จากตอนที่ 2) โดยเริ่มต้นให้ออกซิเจนในอัตราไหล 3 ลิตรต่อนาที มีเป้าหมายว่าหลังให้ไปแล้ว 5-10 นาที จะวัดแซตได้อยู่ระหว่าง 94-96% ถ้าได้ค่าน้อยกว่าหรือมากกว่านั้น ก็ให้ปรับอัตราไหลเพิ่มขึ้นหรือลดลงครั้งละ 1 ลิตรต่อนาที แล้วทำการวัดซ้ำอีก 5-10 นาทีถัดไป และปรับจนได้เป้าหมาย ถ้าเพิ่มอัตราไหลไปจนถึง 5 ลิตรต่อนาทีแล้ว ยังไม่สามารถวัดแซตได้มากกว่า 92% ให้ทดลองนอนคว่ำซึ่งจะทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซดีขึ้น ถ้านอนคว่ำพักหนึ่งแล้วยังวัดค่าได้น้อยกว่า 92%  ต้องรีบติดต่อแพทย์หรือโรงพยาบาลที่รับผิดชอบหรือรีบนำส่งโรงพยาบาล 

ปุจฉา: อุปกรณ์ที่ใช้ให้ออกซิเจนที่บ้านต้องระมัดระวังอะไรบ้าง

วิสัชนา: อุปกรณ์ที่ใช้มีสองกลุ่ม คือ ถังออกซิเจน และ เครื่องผลิตออกซิเจน โดยถังออกซิเจนที่ใช้ทางการแพทย์จะมีสีเขียว ส่วนใหญ่จะเป็นถังเหล็กบรรจุในรูปก๊าซ มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เป็นถังขนาดเล็กบรรจุออกซิเจนเหลวจะใช้ได้นานกว่าแต่มีราคาแพง ที่หัวถังจะมีวาล์วปรับและตรวจสอบแรงดัน เวลาใช้ต้องต่อกระบอกใส่น้ำสะอาดสำหรับให้ความชุ่มชื้น แล้วจึงต่อเข้ากับสายให้ออกซิเจนชนิดมีสายเสียบเข้ารูจมูกทั้งสองข้างและคล้องกับศีรษะหรือคล้องใบหูจนกระชับ ต้องระมัดระวังไม่ให้มีประกายไฟในบริเวณใกล้เคียง และต้องระวังไม่ให้ถังล้มเพราะถ้าวาล์วหัวถังหลุดจะเกิดแรงดันให้ถังพุ่งตัวไปอย่างแรง

สำหรับเครื่องผลิตออกซิเจนโดยใช้ไฟฟ้า ควรเลือกที่ผ่านการรับรองจากอย. ใช้ขนาดผลิตได้อย่างน้อย 5 ลิตรต่อนาที โดยควบคุมกำลังผลิตให้ความเข้มข้นของออกซิเจนขณะเปิดที่ 5 ลิตรต่อนาทีให้ได้คงที่ระหว่าง 82-96% และมีสัญญาณเตือนถ้าค่าลงไปต่ำกว่า 82% เพราะแสดงถึงการได้เวลาซ่อมบำรุงเครื่อง

ปุจฉา: เราจะเสริมสร้างสุขภาพปอดให้แข็งแรงรับมือกับโควิดได้อย่างไร

วิสัชนา: ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ ไม่ว่าป่วยแล้วจะเกิดปอดอักเสบหรือไม่ และไม่ว่าจะหายป่วยแล้วก็ตาม การมีสุขภาพปอดที่แข็งแรงเป็นต้นทุนสุขภาพที่ดี จะเห็นได้ว่านักกีฬาอาชีพที่ป่วยด้วยโรคนี้มีน้อยมากที่เกิดปอดอักเสบรุนแรง การส่งเสริมสุขภาพปอดทำได้โดย

1. ออกกายสม่ำเสมอ ขณะออกกำลังกายจะทำให้ปริมาตรอากาศไหลเข้าออกปอดในหนึ่งนาที เพิ่มขึ้นนับเป็นสิบเท่า ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรง และส่วนต่างๆ ของปอดถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซเต็มที่ เมื่อเกิดปอดอักเสบขึ้นปอดจะทนทานต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติได้นานขึ้น

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมระบบการป้องกันสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะเชื้อโรคที่ผ่านลงไปในหลอดลมและถุงลมปอด

3. หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่นพีเอ็ม และก๊าซที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เนื่องจากจะทำให้เยื่อบุผิวในของหลอดลมและปอดถูกทำลายและเชื้อโรคทะลุทะลวงรุกล้ำเข้าไปในชั้นลึกได้ง่ายขึ้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง