‘ทวิตเตอร์วุ่นวาย กับ เจ้านายเย็นชา’ ปัญหาอีรุงตุงนัง หลัง Elon Musk ซื้อ Twitter
ตั้งแต่เขาเข้ามาซื้อบริษัททวิตเตอร์ (Twitter) ด้วยเงิน 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,560,000 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2022 เรื่องราวข่าวสารของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็กลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องคอยอัปเดตกันแบบรายวัน (บางทีวันหนึ่งมีสองสามข่าว) ผ่านมาถึงตรงนี้เกิดอะไรขึ้นเยอะมาก ตั้งแต่ไล่อดีตซีอีโอ, ซีเอฟโอ และที่ปรึกษาระดับสูงออกภายในวันแรก ไล่บอร์ดบริหารออกหมดเหลือเขาคนเดียว ส่งอีเมลไล่พนักงานออกประมาณ 3,700 คนซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของบริษัท แล้วก็ไปจ้างคืนมาบางส่วนในแผนกที่คนไม่พอ
ต่อมาก็เอาบริษัทออกจากตลาดหุ้น ปล่อยตัวฟีเจอร์ติ๊กถูกสีฟ้าเดือนละ 8 เหรียญ ต่อมาเจอปัญหาแล้วก็เอาออกเพราะบัญชีปลอมเยอะมากจนต้องเอาฟีเจอร์นี้ออกก่อน ต่อจากนั้นต้องขายหุ้นเทสลาอีก 4,000 ล้านเหรียญเผื่อต้องสำรองให้กับทวิตเตอร์ หลายบริษัทหยุดโฆษณาเพราะไม่เห็นด้วยเรื่องแนวคิดและขอรอดูก่อนว่าบริษัทจะไปทางไหน ผู้บริหารระดับสูงหลายคนลาออก
ต่อจากนั้นอีลอนก็ทวีตบอกให้พนักงานบริษัทเตรียมตัวทำงานแบบ ‘ฮาร์ดคอร์’ เพื่อทุ่มเทให้กับบริษัทอย่างไม่มีกำหนด พนักงานหลายร้อยคนตัดสินใจลาออกเพราะรู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับการที่จะทำงานโดยไร้เป้าหมาย เหตุการณ์นี้ทำให้มัสก์ต้องสั่งปิดบริษัทชั่วคราวไม่ให้คนเข้าบริษัทเพราะกลัวว่าจะมีคนเอาข้อมูลบริษัทไปเมื่อลาออก
ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2022 ก็มีการออกมาเปิดโพลถามว่าควรเปิดบัญชีของทรัมป์อีกรอบรึเปล่า (ผ่านไปครึ่งวันมีคนสนับสนุนกว่า 52% เลยทีเดียว) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะก่อนหน้านี้เขาก็เคยออกมาบอกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาจะตัดสินใจได้ แต่จะตั้งทีมขึ้นมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ (แต่ดูเหมือนตอนนี้จะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว?)
ทุกอย่างดูยุ่งเหยิงไปหมด นี่ยังไม่ถึงเดือนเลยด้วยซ้ำ บอกเลยว่านี่ยังไม่จบง่าย ๆ มัสก์ยังมีงานให้ทำอีกเยอะมากในฐานะซีอีโอและผู้บริหารของทวิตเตอร์เพียงคนเดียว ยุ่งที่เดียวไม่พอยังเป็นซีอีโอของทั้ง Tesla, SpaceX, The Boring Company (บริษัทให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างอุโมงค์สำหรับคมนาคม) และ Neuralink (บริษัทพัฒนาส่วนต่อประสานของสมองและเครื่องจักร) อีกด้วย เดวิด บี. ยอฟฟี (David B. Yoffie) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Harvard Business School ที่ศึกษาเกี่ยวกับมัสก์และธุรกิจที่เขาทำบอกว่า
“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ซีอีโอจะบริหาร 4 หรือ 5 บริษัทให้มีประสิทธิภาพเท่า ๆ กัน นั่นไม่ใช่ความคาดหวังที่เราควรจะมี”
การรับตำแหน่งซีอีโอใหม่ที่ทวิตเตอร์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตัวเองไม่ถนัดหรือเคยทำในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ก็กำลังเผชิญความท้าทายหลายอย่าง ยิ่งทำให้สถานการณ์ของเขายากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวเลย
ยกตัวอย่าง Tesla ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างความมั่งคั่งให้มัสก์จนกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ในตอนนี้บริษัทกำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ สายการผลิต และเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ยอดส่งมอบรถยนต์ไตรมาสที่สามของปี 2022 เทียบกับปีที่ผ่านมาสูงขึ้นกว่า 42% จาก 241,300 คัน เป็น 343,000 คัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีของบริษัท แต่ขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าพวกเขากำลังเผชิญกับคู่แข่งทุกทิศทางเลย ตอนนี้ Tesla ไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าเพียงเจ้าเดียวในตลาดอีกต่อไป บริษัทอย่าง GWM หรือ BYD จากจีนก็ถือว่ากำลังขยายการผลิตและส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองได้จำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน
ในอเมริกาซึ่งเป็นฐานของบริษัท Tesla ในไม่กี่ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าจะมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าหลายสิบรุ่น ในบทความของ Bank of America Merrill Lynch (แผนกวาณิชธนกิจข้ามชาติของสหรัฐอเมริกาภายใต้การอุปถัมภ์ของ Bank of America) ในเดือนกรกฎาคม 2022 มีการคาดการณ์ว่าส่วนแบ่งในตลาดของ Tesla จากที่เคยมีประมาณ 70% ในปี 2021 จะลดลงเพียงประมาณ 11% ในปี 2026 เท่านั้นจากการแข่งขันอันดุเดือดของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมีขึ้นในช่วงสองสามปีที่กำลังจะมาถึง แถมบริษัทยังมีเรื่องต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากระบบไร้คนขับของบริษัทอีกด้วย
อย่าลืมว่าตอนนี้ Tesla ยังต้องพึ่งพาและร่วมมือกับทางประเทศจีนอย่างมากทั้งเรื่องวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการสร้างแบตเตอรี่อย่างนิกเกิล โคบอลต์ และแมงกานีสที่มาจากเหมืองในประเทศจีน และโรงงานที่ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ก็ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็ยังมีความกดดันใส่กันอยู่เรื่อย ๆ ถ้าเกิดมีปัญหาการเมืองทำให้โรงงานปิดหรือเหมืองไม่สามารถขุดได้ Tesla จะอยู่ในจุดที่อันตรายในทันที
ความสัมพันธ์ระหว่างทวิตเตอร์และรัฐบาลจีนก็ไม่ได้ราบรื่นในช่วงที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่มัสก์จะเข้ามาบริหาร ทวิตเตอร์ตัดสินใจใส่คำว่า “China state-affiliated media” ใต้ชื่อของสื่อที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนเพื่อแจ้งให้คนอ่านทวีตจากบัญชีนั้นทราบว่านี่เป็นบัญชีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน (รัสเซียหรือไทยเองก็โดน) และยังบอกอีกว่าช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมที่ผ่านมา มีบัญชีจากรัฐบาลจีนพยายามเข้ามาก่อกวนและโน้มน้าวผลการเลือกตั้งจนต้องไล่ปิดบัญชีไปมากกว่า 2,000 บัญชี (ซึ่งจีนก็ออกมาปฏิเสธการเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยทันที)
ถ้าเราย้อนกลับไปดูหุ้นของบริษัท Tesla ที่ร่วงมาตั้งแต่ต้นปี 2022 จนถึงตอนนี้ลงไปแล้วกว่า 55% จากประมาณ 400 เหรียญต่อหุ้น มาเป็น 180 เหรียญต่อหุ้น (18/11/2022) ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่จากนักลงทุน แต่ก็เป็นไปได้ว่านี่อาจจะเป็นผลพวงจากภาวะของตลาดที่ไม่ค่อยสู้ดี หุ้นบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายก็ร่วงหนักไม่แพ้กันในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจเป็นไปได้ แต่ถ้าซูมเข้าไปดูแค่ตั้งแต่วันที่มัสก์ตกลงซื้อทวิตเตอร์ (28/10/2022) จนถึงตอนนี้ (18/11/2022) หุ้นบริษัทเทสล่าร่วงไปกว่า 21% ภายในเวลาไม่ถึงเดือนหนึ่งด้วยซ้ำ
ยอฟฟีกล่าวว่านี่เป็นสัญญาณว่านักลงทุนเริ่มรู้สึกหวั่นใจที่เขาทำงานหนักมากเกินไป ไม่ได้ทุ่มเทให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งและไม่โฟกัสอีกต่อไป ถ้ายังจำกันได้ในปี 2018 ที่ Tesla เผชิญปัญหาในสายการผลิตจนมัสก์ต้องนอนที่โรงงานเพื่อทำงานหามรุ่งหามค่ำ ซึ่งถามว่าถ้าตอนนี้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นสองแห่งหรือสามแห่งที่เขาเป็นซีอีโออยู่จะเลือกทางไหนล่ะ? และนิสัยส่วนตัวของมัสก์ที่ต้องทำเอง จัดการทุกรายละเอียด มันเป็นไปไม่ได้เลยระหว่างนี้ที่เขากำลังวุ่นวายกับทวิตเตอร์แล้วจะแก้ไขปัญหาที่เกิดกับ Tesla ได้
ทางด้าน SpaceX เองก็นิ่งนอนใจไม่ได้ ในฐานะซีอีโอเขาต้องคอยตรวจสอบเรื่องความพร้อมของการปล่อยจรวดที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมที่จะมาถึง แต่ในขณะเดียวกัน US FAA (องค์การบริหารการบินแห่งชาติ) ก็มีการแจ้งให้ทาง SpaceX เปลี่ยนแปลงจรวดของตัวเองกว่า 75 แห่งเพื่อให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนจะปล่อยตัวและถึงตอนนี้ US FAA ก็ยังไม่ได้อนุมัติให้ผ่านตรงนี้ได้
SpaceX ก็เหมือนกับ Tesla ที่มีความยุ่งเหยิงเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ไม่ต่างกัน ในกรณีของ SpaceX คือ รัสเซีย หลังจากที่รัสเซียบุกเข้าไปยังยูเครน บริษัทของมัสก์ก็บริจาคสถานีเชื่อมต่อภาคพื้นประมาณ 25,000 แห่ง เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต Starlink ในประเทศยูเครน แต่ภายหลังมัสก์ก็ออกมาทวีตว่าปฏิบัติการนี้ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อ SpaceX แล้ว 80 ล้านเหรียญ และปลายปีอาจจะมีถึง 100 ล้านเหรียญ ซึ่งอาจจะต้องหยุด แต่ต่อมาไม่นานหลังจากถูกกดดันจากสังคมในเรื่องนี้อย่างหนัก เขาก็ออกมากลับลำแล้วบอกว่าจะสนับสนุนต่อไป ระหว่างที่ทุกคนกำลังหัวปั่นและสงครามกำลังเลวร้าย มัสก์ออกมาสร้างโพลถามเรื่องแผนการหยุดสงครามโดยมีการเสนอว่ายูเครนควรมอบดินแดนที่โดนรุกรานให้กับฝ่ายรัสเซียรึเปล่า (ซึ่งแน่นอนก็เจอกระแสต่อต้านอีก)
สำหรับ The Boring Company และ Neuralink ที่เป็นเหมือนงานเสริมเล็ก ๆ สำหรับมัสก์ดูมีความสำคัญลดลงไปในตอนนี้ The Boring Company ที่ถูกก่อตั้งในปี 2016 สร้างตัวอุโมงค์ต้นแบบได้สำเร็จแล้วในลอสแอนเจลิสและลาสเวกัส โดยแผนการสร้างอุโมงค์เชื่อมระหว่างนิวยอร์กกับวอชิงตัน ดี.ซี. ตัวเมืองชิคาโกกับสนามบิน และสนามเบสบอล Dorger กับตัวเมืองลอสแอนเจลิส ต่างก็ถูกพักเอาไว้ก่อน ไอเดียของ Hyperloop (เทคโนโลยีการคมนาคมขนส่ง เดินทางผ่านท่อสุญญากาศ ขับเคลื่อนด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้า) ก็ถูกหยุดไว้ก่อนเช่นกัน
มาถึง Neuralink ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ฝังสมอง หรือ Implantable Brain–Machine Interfaces (BMIs) ที่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงการปรับปรุงศักยภาพของมนุษย์ ทำให้คนสามารถบังคับหรือสังงานคอมพิวเตอร์ได้ผ่านสมอง บริษัทนี้ก่อตั้งในปี 2016 เช่นเดียวกัน จากแผนที่วางเอาไว้ว่าจะมีการทดสอบในมนุษย์ภายในปี 2022 ตอนนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้แล้ว แถมยังมีข่าวเรื่องของการที่เขาไปมีความสัมพันธ์กับ ชีวอน ซีลิส (Shivon Zilis) หนึ่งในผู้บริหารและมีลูกแฝดด้วยกันด้วยเมื่อปีที่แล้ว
ถ้าเราย้อนดูรูปแบบของบริษัทที่มัสก์สร้างมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น Tesla, SpaceX, The Boring Company หรือ Neuralink ต่างเป็นบริษัทที่พยายามแก้ไขปัญหาในระดับที่ใหญ่มาก ๆ ผ่านเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากนักลงทุนมากมาย มีเป้าหมายอันชัดเจนที่ยิ่งใหญ่ ทำให้พนักงานทุกคนที่มาทำงานด้วยนั้นรู้ว่าตัวเองและบริษัทกำลังไปทางไหน
การเข้าซื้อทวิตเตอร์ไม่ได้อยู่ในแพตเทิร์นนั้นเลย ไม่มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เหมือนอย่าง Tesla และ SpaceX (ปัญหาที่มัสก์เจอที่ทวิตเตอร์กลายเป็นปัญหาเรื่องการจัดการพนักงานและคนที่ทำงานด้วยมากกว่าด้วยซ้ำ) แนวคิดเกี่ยวกับ Free Speech หรือเสรีภาพในการพูดของมัสก์ก็ไปได้ไม่สุดทาง แม้ก่อนหน้านี้จะบอกว่าต่อไปทวิตเตอร์จะกลายเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างมากขึ้น หมายถึงว่าจะปล่อยให้คนสามารถแสดงออกถึงแนวคิดและสิ่งที่ตัวเองอยากพูดได้อย่างมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ประเด็นนี้ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่โฆษณาบนแพลตฟอร์มสักเท่าไหร่ มัสก์ซึ่งยังคงต้องคำนึงถึงผลกำไรของบริษัทที่ยังต้องพึ่งพาเงินโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ ถ้าเจอธุรกิจแบนหมดเพราะเหตุผลทางการเมืองทวิตเตอร์ก็จะไปไม่รอดอยู่ดี เลยต้องมีการออกมาแถลงว่าไม่ใช่ใครจะพูดอะไรก็ได้ ยังมีการควบคุมอยู่ ซึ่งการถอยกลับจากเรื่องเสรีภาพทางการพูดของมัสก์เองก็เจอต่อต้านจากกลุ่มที่สนับสนุนเขาตั้งแต่แรกด้วย จึงทำให้มัสก์อยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจนกว่าจะหาทางสร้างรายได้ให้กับบริษัททางอื่นได้มากเพียงพอ
การที่ผู้บริหารครองตำแหน่งซีอีโอหลายบริษัทนั้นไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่าง แจ็ก ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ที่เคยดูทั้ง Twitter และ Square ในเวลาเดียวกันอยู่หลายปี หรืออย่าง สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ที่หลังจากถูกบีบให้ออกจาก Apple ในปี 1985 เขาก็ไปสร้างและดูแล NEXT และ Pixar พร้อมกันได้อย่างได้อย่างประสบความสำเร็จทั้งคู่ แต่ว่า Tesla และ SpaceX บวก Twitter ดูจะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า
สิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไปคือมัสก์จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเฉพาะเรื่องของขวัญกำลังใจของพนักงาน เป้าหมายที่ชัดเจนของบริษัทต่อจากนี้ และแหล่งรายได้ที่จะทำให้บริษัทพึ่งพาเงินโฆษณาน้อยลงได้ยังไง ด้วยจำนวนผู้ติดตามหลักร้อยล้านคน ทวิตเตอร์เคยเป็นพื้นที่สำหรับเขาในการโปรโมตธุรกิจต่าง ๆ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาสักบาท การมาเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนี้ก็ยิ่งทำให้เสียงของเขาดังขึ้นไปอีกและอาจจะเป็นการช่วยดันธุรกิจอื่น ๆ ที่เขาดูในระยะยาวก็ได้
แต่มัสก์ต้องผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปให้ได้ ทำให้ทวิตเตอร์กลับมามั่นคงและมีเป้าหมายที่ชัดเจนอีกครั้งในระดับองค์กร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมจำนวนพนักงานที่ลาออกไปซึ่งไม่มีรายงานแน่ชัดว่าตอนนี้เหลือพนักงานกี่คน ถ้าเจอปัญหาของระบบครั้งใหญ่อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงและแก้ไขได้ช้าเกินไปก็ได้ คำถามคือตอนนี้มันมากเกินกว่าที่เขาจะรับไหวแล้วรึเปล่า? ถึงแม้ว่าเขาคือ อีลอน มัสก์ ที่ใครต่อใครต่างยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะ เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัยก็ตาม
Reuters Twitter Wired
WardsAuto Harvard Business School
Reuters Wired Wired CNBC
Wired Big Think Twitter FAA
Business Insider