รีเซต

จุฬาฯ ลุ้น! ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดสัญชาติไทย หลังพบภูมิสกัดไวรัสสูงกว่า mRNA ที่ใช้ในปัจจุบัน

จุฬาฯ ลุ้น! ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดสัญชาติไทย หลังพบภูมิสกัดไวรัสสูงกว่า mRNA ที่ใช้ในปัจจุบัน
มติชน
4 พฤษภาคม 2565 ( 15:20 )
91

ข่าววันนี้ (4 พฤษภาคม 2565) ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือ ChulaCov19 ซึ่งเป็นวัคซีนสัญชาติไทย ชนิด mRNA ว่า การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ในภาพรวมถือว่าเป็นข่าวดี โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ที่ให้โรงงานในสหรัฐอเมริกาผลิตล็อตแรก ข่าวดีว่าผ่านการพิสูจน์ในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 เรียบร้อยแล้ว พบว่า ปลอดภัย กระตุ้นภูมิได้สูงเป็นที่น่าพอใจ

 

“และขนาดที่เราเลือกเมื่อเทียบกับวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศไทย ได้แก่ ไฟเซอร์ เราก็ได้ภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าชัดเจน” ศ.นพ.เกียรติ กล่าวและว่า ระยะที่สอง คือ การผลิตวัคซีนในประเทศ โดยโรงงานในประเทศไทย ได้แก่ บริษัทไบโอเน็ตเอเชีย ก็สามารถผลิตวัคซีนล็อตแรกในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ผ่านการประกันคุณภาพแล้ว ทีมวิจัยก็ได้ส่งเอกสาร ข้อมูลต่างๆ เข้าไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้คณะกรรมการอาหารและยาอนุมัติให้ดำเนินการทดสอบในอาสาสมัครในระยะที่ 1 และระยะที่ 2

 

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างรอการอนุมัติจาก อย.ให้เริ่มทดสอบในอาสาสมัครได้ คาดว่าน่าจะได้รับคำตอบในเร็วๆ นี้ หากสามารถทดสอบได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็คาดว่าน่าจะขอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ภายในปลายปี 2565

 

“สถานการณ์ระบาดในประเทศเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การพัฒนาวัคซีนของทีมวิจัยก็ไม่ได้หยุด เราอยากเห็นวัคซีนรุ่นที่ 1 ที่ผลิตโดยคนไทยที่ตอนนี้พัฒนากันอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนคณะแพทย์จุฬาฯ วัคซีนใบยา และวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถขึ้นทะเบียนได้ก่อน อย่างน้อย 1 ชนิด หรือได้ทั้งหมดก็จะยิ่งดี โดยวัคซีนรุ่นที่ 1 ตามขั้นตอนก็ควรได้รับการขึ้นทะเบียนก่อน ต้องผ่านการพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัย ในระหว่างที่ขอขึ้นทะเบียนวัคซีนรุ่นที่ 1 เราก็มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอนไปพร้อมกัน เพื่อรอการขึ้นทะเบียนในลำดับต่อไป ที่สำคัญการที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง ตั้งแต่การคิดค้น ออกแบบ ทดสอบ และผลิตได้ในโรงงานในประเทศ ทำให้เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน หรือเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาวัคซีนได้เองในระยะเวลาที่เร็วขึ้น เพราะเราสามารถพัฒนาได้ครบห่วงโซ่ด้วยตัวเราเอง” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

 

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า หากวัคซีนไทยสามารถขึ้นทะเบียนได้ภายในปีนี้ ก็ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุน แต่การผลิตวัคซีนก็ต้องทำอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งต้องพิสูจนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งจุดประสงค์หลักของการพัฒนาวัคซีนของไทย ก็เพื่อที่เราจะได้พึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งช่วยกระจายวัคซีนให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้เร็วขึ้น หากเกิดโรคระบาดขึ้น และการที่เรามีเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น จะทำได้เร็วขึ้น โดยขั้นตอนการคิดค้น ออกแบบ ผลิตและทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ภายในไม่เกิน 6 เดือน ไม่ใช่ใช้เวลานานปีกว่า เหมือนที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพราะขณะนั้นห่วงโซ่ยังไม่ครบวงจร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง