รีเซต

เตือนแล้วนะ! หนีกักตัว โควิด เจอคุกอ่วม อายุความนาน 10 ปี

เตือนแล้วนะ! หนีกักตัว โควิด เจอคุกอ่วม อายุความนาน 10 ปี
ข่าวสด
4 เมษายน 2563 ( 15:40 )
439
3

 

สธ.เผยคนหนีกักตัวโควิด เจอคุกสูงสุด 1 ปี คดีมีอายุความ 10 ปี เผยผู้ป่วยรายใหม่ เกือบ 1 ใน 4 ยังเป็นกลุ่มมาจากต่างประเทศ เร่งตาม 3 คนไทยกลับมารายงานตัว

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 89 คน กลับบ้านเพิ่ม 31 คน เสียชีวิต 1 คน รวมสะสม 2,067 คน กลับบ้านสะสม 612 คน เสียชีวิตสะสม 20 คน ยังรักษาในรพ. 1,435 คน

เกาะติดข่าวโควิด กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account

ทั้งนี้ ผู้ป่วยใหม่ 89 คน พบว่าเกือบ 1 ใน 4 เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ คือ 21 คน จึงอยากเน้นย้ำว่า ใครก็ตามที่มาจากต่างประเทศ รัฐพยายามเข้มงวดรับไว้สังเกตอาการ ก็อยากขอความร่วมมือ เพราะสธ.พูดเสมอว่า คนกลับมาแล้วติดเชื้อ คนที่เสี่ยงที่สุด คือคนใกล้ตัวเราที่สุด สมาชิกครอบครัว คนร่วมบ้าน หรือคนที่เราไปพบปะสังสรรค์

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับคนสัมผัสกับกลุ่มระบาดแรกๆ กลุ่มสนามมวย และสถานบันเทิงรวมแล้วยังมี 33 คน บุคลากรทางการแพทย์ยังเจอเพิ่ม 3 คน พื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่ ยังเป็นกทม.และปริมณฑล ที่เจอมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยอยู่กทม. 31 ราย นนทบุรี 13 ราย และปทุมธานี 5 ราย

อย่างไรก็ตาม มาตรการแต่ละพื้นที่จะมีความเข้มข้นต่างกัน โดยจังหวัดที่ผู้ป่วยรายใหม่น้อย มาตรการสำคัญคือมาตรการสาธารณสุข ในการตรวจพบผู้ป่วยให้เร็วที่สุด ตามไปสอบสวนโรค ระบุผู้สัมผัสให้ครบถ้วน ติดตามให้ครบ 14 วัน

ส่วนพื้นที่ที่มีผู้ป่วยมากขึ้น ต้องเพิ่มมาตรการทางสังคม คือการรักษาระยะห่าง ทั้งนี้ มาตรการสาธารณสุขจะใช้กับคนที่เรารู้ตัวว่าป่วย ส่วนมาตรการทางสังคมเป็นการใช้กับคนที่เราไม่รู้ตัวว่าป่วย เพราะการออกจากบ้านก็อาจเจอคนติดเชื้อได้ จึงต้องรักษาระยะห่าง ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนร่วมมือปฏิบัติตาม เพื่อดึงกราฟผู้ป่วยให้ต่ำสุดให้ได้ คือ เป็นศูนย์ และตอนนั้นอาจจะค่อนข้างผ่อนคลาย สามารถกลับไปทำอะไรบางอย่างได้ดีขึ้นกว่าเดิม

เมื่อถามถึงกรณีการติดตามคนที่ไม่ยอมกักตัวในที่รัฐจัดให้ หลังกลับจากต่างประเทศ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การที่ภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค ออกคำสั่งให้กักตัว 14 วัน ผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี ที่สำคัญคืออายุความนานถึง 10 ปี ตนเข้าใจว่าวันนี้คงเรียกให้กลับมารายงานตัว

จึงอยากเรียนให้ผู้กลับบ้านไปก่อนหน้านี้ให้มารายงานตัว และย้ำว่าคนที่เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งกักกันตัวเพื่อสังเกตอาการตัวเอง ก็อยากให้ทำตามคำสั่งและการแนะนำจะดีที่สุด และการออกคำสั่งนั้นจะเป็นการประเมินสถานการณ์รายวัน ซึ่งบางกลุ่มประเมินแล้วอาจให้กลับไปกักตัวเองที่บ้าน หรือบางกลุ่มต้องตัดสินใจรับไว้สังเกตอาการที่รัฐจัดให้

เมื่อถามถึงกรณีคนไม่ยอมกักตัวและหนีกลับบ้าน มีคนที่มีอาการไข้กลับบ้านด้วย นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการที่ด่านควบคุมโรค เวลาเจอคนมีไข้ จะตรวจหาเชื้อที่สนามบิน และให้ผู้มีไข้รอจนกว่าจะทราบผล หากผลก็อาจให้ไปติดตามอาการต่อที่ใดที่หนึ่ง หรือหากอาการไข้จำเป็นต้องรับตัวในรพ. ก็จะรับไว้ในรพ.

ส่วนผลตรวจเป็นบวก ก็ให้ไปรพ.เลย อย่างกรณีเมื่อวาน ผู้ที่คัดกรองมีไข้ 3 คนตามข่าวว่าหลบหนีไปด้วย วันนี้คงตามตัวกลับมารายงานตัว เข้าใจว่าเขาน่าจะตรวจและวันนี้น่าจะทราบผล หรือถ้ายังไม่ตรวจเมื่อตามกลับมาก็ต้องตรวจต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผลแล็บของ ผอ.รพ.สมุทรปราการ ที่ภายหลังออกมาบอกว่าไม่ได้ติดเชื้อ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า คนไข้มีอาการตอนต้นเดือน มี.ค. กว่าจะวินิจฉัยก็กลางๆ หรือปลายมี.ค. คือวันที่ 23-24 มี.ค. โดยให้ผลเป็นบวกแบบอ่อนๆ พอวันรุ่งขึ้นจึงทำการตรวจซ้ำ ก็ให้ผลลบ อาจารย์ท่านหนึ่งที่ดูแลห้องปฏิบัติการที่ให้ผลบวกอ่อนๆ จึงให้ความเห็นว่า คนนี้ไม่น่าจะติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกการยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่จะใช้ผลแล็บจาก 2 แห่งยืนยันตรงกัน หากตรวจเป็นบวกแล็บเดียว อีกแล็บเป็นลบ ก็จะบอกได้ว่ารายนี้ไม่ติดเชื้อ

แต่ตอนนี้เราใช้แล็บเพียงแล็บเดียว หากให้ผลบวกถือว่าป่วยยืนยันเลย ต้องเรียนว่า ผลการตรวจอาจจะมีคลาดเคลื่อนได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกรายที่เป็นเช่นนี้ จากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านแล็บคงต้องหารือกันชัดเจนเพิ่มขึ้น เพราะแต่ละกรณีเราก็เรียนรู้กันไป ส่วนกรณีนี้เนื่องจากการวินิจฉัยผ่านมานานมากแล้ว ผู้สัมผัสก็น่าจะครบ 14 วันไปเกือบหมดทุกคน การเฝ้าระวังควบคุมโรคคงไม่มีประเด็นอะไร แต่การวินิจฉัยถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไรคงต้องเอาไปหารือต่อ

เมื่อถามถึงกรณีสถานที่กักตัวเฝ้าระวังอาการ แต่ให้พัก 3 คน ทำให้ผู้เข้ารับการกักตัวไม่มั่นใจ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานที่กักตัวนั้นมีการพิจารณาร่วมกันของทุกฝ่ายและฝ่ายสาธารณสุข พิจารณาตามความเสี่ยง ตามความเหมาะสมและดีที่สุด เท่าที่มีทรัพยากรสนับสนุนได้

เราพยายามเต็มที่จัดการดูแล ป้องกันการติดเชื้อ แพร่เชื้อในสถานที่กักกัน นอกเหนือจากจัดเตรียมห้อง ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น มีหน้ากาก เจลล้างมือให้เพื่อป้องกันแพร่เชื้อ จึงอยากให้ความมั่นใจและให้คนกลับมาจากต่างประเทศร่วมมือด้วย

เมื่อถามถึงความเสี่ยงของคนในคอนโดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือคนร่วมบ้าน คนใกล้ชิดตัวผู้ป่วย ส่วนคนที่ไม่อยู่บ้านเดียวกัน จะดู 2 แบบ คือ พูดคุยใกล้ชิดผู้ป่วยหลังมีอาการแบบต่างคนต่างไม่ป้องกัน ไม่ใส่หน้ากาก คุยกันนานกว่า 5 นาที แต่หากเป็นการทักทายเดินผ่านไป ก็ไม่ได้เสี่ยงสูง หรืออีกกรณีคืออยู่ในพื้นที่ปิดด้วยกัน นั่งรัศมีใกล้เคียงกัน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที

ดังนั้น โอกาสคนร่วมคอนโดที่สัมผัสผู้ติดเชื้อมีไม่มาก อย่าได้กังวล ทั้งนี้ คนไข้ออกจากคอนโดไปแล้ว เชื้อตามผิวสัมผัสก็อาศัยการทำความสะอาดพื้นผิวที่คนไปโดนบ่อยๆ ก็ลดเสี่ยงได้ คนที่อยู่ในคอนโด ก็ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงมือโดนใบหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง