รีเซต

กรมชลฯ ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 39.49 ล้านลูกบาศก์เมตร

กรมชลฯ ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 39.49 ล้านลูกบาศก์เมตร
TNN ช่อง16
13 มกราคม 2567 ( 20:39 )
169
กรมชลฯ ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 39.49 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จังหวัดหนองคาย โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน และประชาชนเข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 ปี ที่ว่าการอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย



 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ลุ่มน้ำห้วยโมงครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู พระบาทสมเด็จพระ บรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เมื่อปี 2525 กรมพลังงานแห่งชาติ ชื่อเดิม “กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน” ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง แล้วเสร็จเมื่อปี 2530 ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำห้วยโมง จำนวน 1 แห่ง สถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 10 แห่ง พร้อมระบบส่งน้ำ 163 สาย ระบบระบายน้ำ 35 สาย และคันกั้นน้ำจำนวน 4 สาย ต่อมาในปี 2545 กรมชลประทานรับถ่ายโอนกิจการบริหาร ในปี 2548 ยกขึ้นเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ปัจจุบันโครงการฯ ใช้งานมา 37 ปี อาคารประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ระบบชลประทานและอาคารประกอบ จึงเกิดสภาพทรุดโทรม และประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่โครงการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น และในฤดูแล้งก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร กรมชลประทานจะต้องสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรทุกปี ประมาณ 8.42 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาปรับปรุงทั้งโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและเกษตรกรที่ใช้น้ำจากโครงการ อีกทั้งสภาพภูมิสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำการปรับปรุง ศึกษา สำรวจความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนและเกษตรกร เพื่อจัดทำโครงการให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง และเชื่อว่าการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย

 

“วันนี้ดีใจที่เห็นประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นโครงการดังกล่าว และขอให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น” รองผู้ว่าฯ หนองคาย กล่าว

 

ด้านนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ตามนโยบายที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานของโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาโครงการที่ก่อสร้างมาเป็นเวลานานทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้ประหยัดน้ำและทั่วถึงเป็นธรรม ซึ่งพื้นที่ห้วยโมงมักประสบปัญหาอุทกภัยอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงที่น้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น และในฤดูร้อนก็จะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาช่วยเหลือเกษตรทุกปี ประมาณ 8.42 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมงก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2530 มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้ว แม้ที่ผ่านมากรมชลประทานจะสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมทุกปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การส่งน้ำและระบายน้ำมีประสิทธิภาพ เพราะแนวท่อน้ำอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เนื่องจากวัสดุเก่าและมีการรั่วซึม เป็นต้น


 

“เราต้องการเพิ่มอัตราการระบายน้ำลงแม่น้ำโขงของประตูระบายน้ำห้วยโมงเดิม เพื่อลดระดับน้ำท่วมและลดระยะน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก รวมไปถึงช่วงเวลาที่แม่น้ำโขงสูง อีกทั้งยังต้องการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักของโครงการ ที่ปัจจุบันแหล่งน้ำต้นทุนหลักของโครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยโมง อ่างเก็บน้ำห้วยลาน และลำน้ำห้วยโมง มีปริมาตรเก็บกักเมื่อสิ้นฤดูฝนอยู่ที่ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่” นายสุรชาติ กล่าว

สำหรับการศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ประกอบด้วย 10 กิจกรรม ได้แก่ 1. การปรับปรุงประตูระบายน้ำห้วยโมงเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น และก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยโมงแห่งที่ 2 เป็นท่อระบายน้ำจำนวน 5 ช่อง ความยาวท่อระบายน้ำ 232.20 เมตร พร้อมติดตั้งเกียร์มอเตอร์และระบบโทรมาตร เพื่อช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก 2.ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยโมง เพิ่มความจุเป็น 36.36 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันที่มีความจุ 14.36 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของโครงการ โดยไม่ต้องสูบน้ำกลับจากแม่น้ำโขง 3. ปรับปรุงสถานีสูบน้ำและติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ โดยจะซ่อมแซมอาคารสถานีสูบน้ำทั้งหมด 10 แห่ง และซ่อมระบบโทรมาตรที่มีสภาพเก่าและใช้งานมาเป็นเวลานาน จะเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำและตู้ควบคุมที่ชำรุด 31 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำ และจะนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์มาใช้ช่วยลดค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำ 4. ปรับปรุงแนวท่อส่งน้ำ ซึ่งปัจจุบันเก่าใช้งานเป็นเวลานาน แต่แนวท่ออยู่ในการถือครองของประชาชนและอยู่ในระดับลึก ทำให้ซ่อมแซมและบำรุงรักษายุ่งยาก จึงจะลงไปตรวจสอบและกันเขตแนวท่อส่งน้ำใหม่ เปลี่ยนท่อที่ชำรุดและหมดสภาพในการใช้งาน 9 สาย ความยาวทั้งหมด 8.882 กิโลเมตร รวมทั้งย้ายแนวท่อให้บำรุงรักษาได้ง่ายขึ้น 5.ปรับปรุงคลองส่งน้ำ ได้แก่ คลองส่งน้ำสายหลักจำนวน 17 สาย ความยามรวม 83.96 กิโลเมตร พร้อมปรับปรุงขยายผิวจราจรถนนบนคันคลองให้ได้มาตรฐาน และปรับปรุงซ่อมแซมคลองส่งน้ำสายซอยจำนวน 37 สาย ความยาวรวม 37.24 กิโลเมตร เป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต พร้อมปรับปรุงผิวจราจร ถนนบนคันคลองและอาคารประกอบตามแนวคลองทุกแห่ง

 

6. ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ซึ่งเป็นคลองขุดและคลองธรรมชาติใช้งานมาตั้งแต่ปี 2525 แต่ปัจจุบันตื้นเขิน แคบ และถูกบุกรุก จึงจะขุดลอกคลองระบายน้ำสายหลักและสายซอย 35 สาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ 7. ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยลาน เพิ่มความจุเป็น 23.22 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีความจุ 8.21 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะนำดินที่ขุดมาถมเป็นเกาะกลางอ่างเก็บน้ำ เพื่อวางแผงโซล่าเซล์ 8. ปรับปรุงคันกั้นน้ำ รวมทั้งอาคารประกอบคันกั้นน้ำตามแนวทั้ง 4 สาย จำนวน 11 แห่ง และปรับปรุงคลองขนานคันกั้นน้ำด้วย 9. ปรับปรุงขุดลอกบริเวณสถานีสูบน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรได้ และ 10. การทำระบบชลประทานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่แปลงใหญ่ มีแหล่งน้ำต้นทุนเพียงพอหลังการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยโมง

 

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาปรับปรุงโครงการดังกล่าวนี้จะใช้งบประมาณ 3,870 ล้านบาท ระยะเวลาในการปรังปรุง 5 ปี โดยจะได้รับผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์และคุ้มค่ากับการลงทุน ช่วยให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานภายใต้พื้นที่โครงการ 54,000 ไร่ เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 39.49 ล้านบาศก์เมตร และลดพื้นที่น้ำท่วมลงได้กว่า 14,956 ไร่

 

“ขอยืนยันว่าการปรับปรุงประตูน้ำระบายน้ำห้วยโมงเดิม และการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่ม จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของประชาชน เพราะกรมชลประทานก่อสร้างในพื้นที่ของกรมฯ เอง การขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยโมง และอ่างเก็บน้ำห้วยลานจะขุดลอกในขอบเขตที่ดินของรัฐที่จัดซื้อไว้แล้ว และทำในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น” นายสุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง