รีเซต

พณ.-เอกชน ประสานเสียง สินค้าชายแดนใต้มีโอกาสเจาะตลาดมาเลเซีย-อาเซียน

พณ.-เอกชน ประสานเสียง สินค้าชายแดนใต้มีโอกาสเจาะตลาดมาเลเซีย-อาเซียน
มติชน
18 สิงหาคม 2564 ( 13:17 )
26
พณ.-เอกชน ประสานเสียง สินค้าชายแดนใต้มีโอกาสเจาะตลาดมาเลเซีย-อาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “รู้ลึกก่อนใคร โอกาสการค้าชายแดนใต้สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” ว่า สินค้าของดีในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีโอกาสขยายไปตลาดต่างประเทศสูงมาก โดยเฉพาะตลาดมาเลเซียและอาเซียน ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน และ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าและบริการฮาลาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) สร้างแต้มต่อส่งออกไปตลาดประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้น

 

 

นายวรวรรณ วรรณวิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ให้ข้อมูลว่า มาเลเซียนำเข้าสินค้าไทยเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปตลาดโลก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าฮาลาลไปจีนและกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งมีสมาชิกถึง 57 ประเทศ จึงเห็นโอกาสของผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะขยายส่งออกสินค้าไปตลาดมาเลเซียเพิ่มขึ้น

 

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เสริมว่า แม้ไทยจะเผชิญสถานการณ์โควิด-19 แต่ธุรกิจอาหารมีอัตราการเติบโตในตลาดมาเลเซียสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อช่วยป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งเครื่องปรุงรส ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยังสนับสนุนความร่วมมือเรื่องมาตรฐานสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อขยายการส่งออก นอกจากนี้ จังหวัดชายแดนใต้ยังมีจุดแข็ง ทั้งถนน ด่านชายแดน และวัฒนธรรมมุสลิมที่เชื่อมโยงกับตลาดมาเลเซีย

 

 

ดร.ตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ให้ข้อมูลว่า เศรษฐกิจการค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คิดเป็น 1% ของ GDP ของประเทศ หากนำ AI มาใช้ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการเกษตรจะช่วยให้เกิดความแม่นยำเรื่องการผลิตมากขึ้น ทางด้าน ดร.นราธิป อ่ำเที่ยงตรง ที่ปรึกษาด้านการตลาด การขาย การบริการ และพัฒนาศักยภาพบุคลากร และองค์กรภาครัฐและเอกชน แนะให้ผู้ประกอบการปรับตัวและศึกษาตลาดสมัยใหม่ เช่น ตลาดอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภค Gen Y ที่เน้นใช้สินค้าที่มีคุณภาพและมีราคาที่คุ้มค่า จึงควรทำกลยุทธ์การตลาดทั้งการจับคู่ธุรกิจ และการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ และสร้างเอกลักษณ์ของสินค้า บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทย ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับสินค้าได้มากขึ้น

 

 

นางนฤมล แก้วมุกดากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ให้ข้อมูลการดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคและปลูกหญ้าเนเปียร์ การเลี้ยงไก่ฮาลาลและแปรรูป ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และป้องกันการละทิ้งถิ่นฐาน ขณะที่พาณิชย์จังหวัดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดกิจกรรมอบรมสัมมนาให้ความรู้ด้านต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ การขึ้นทะเบียนสินค้าในพื้นที่เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เช่น ปลากุเลาตากใบ ลูกหยียะรัง ทุเรียนทรายขาว และการนำสินค้าขึ้นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Facebook Live ของกลุ่มจังหวัด และการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง