แบงก์ชาติสั่งลดจีดีพีด่วน ประเดิมหั่นเหลือ 0.7% จับตาตกงานระนาวร่วม 3 ล้าน - ดับฝันท่องเที่ยวเหลือแค่แสนเดียว
แบงก์ชาติสั่งลดจีดีพีด่วน ประเดิมหั่นเหลือ 0.7% จับตาจ่อตกงานระนาวร่วม 3 ล้านคน ดับฝันท่องเที่ยวเหลือแค่แสนเดียว
แบงก์ชาติสั่งลดจีดีพีด่วน - นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง. ในวันที่ 4 ส.ค. 2564 มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าที่ประเมิน และมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยยะสำคัญ
ขณะเดียวกัน ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลดลงเหลือ 0.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.8% และปี 2565 ลดลงเหลือ 3.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญคือเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน และเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการด้านการเงินการคลังจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจอดและทันการยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงยากลำบาก หัวเลี้ยวหัวต่อนี้ โดยการช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า
“การทบทวนตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นการทบทวนเพิ่มเป็นพิเศษจากรอบปกติ โดยปรับลดลงตามการบริโภคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและอาชีพอิสระ โดยเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงาน เพิ่มเติมจากผล กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด”
ทั้งนี้ กนง.ได้ติดตามสถานการณ์การจ้างงานอย่างใกล้ชิด โดยพบว่าจากมาตรการล็อกดาวน์ 29 จังหวัด มีสัดส่วน 78% ของจีดีพี และ 43% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ตลาดแรงงานแย่ไปอีกจากการระบาดที่ยังยืดเยื้อ นับเป็นปัญหาว่างงานวิกฤตกว่าในอดีต โดยขณะนี้ มีผู้เสมือนว่างงาน 2.8 ล้านคน ว่างงานระยะยาว 2 แสนคน และแรงงานย้ายถิ่มเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านคน
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาได้ในช่วงต้นไตรมาส 4/2564 ลดการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 0 วัน ไตรมาส 2/2565 คาดว่าจะมีนักท่องเทึ่ยวในปีนี้ ที่ 1.5 แสนคน และกลับมาที่ 6 ล้านคนในปีหน้า แต่หากคุมได้ช่วงปลายไตรมาส 4/2564 ลดการกักตัวช่วงไตรมาส 3/2565 ก็จะส่งผลให้ปีนี้เหลือนักท่องเที่ยว 1 แสนคน
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี แม้ภาคการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราว ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิม การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาด โดยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคตามปัจจัยในประเทศ โดย กนง. เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
“กนง. เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยดูแลตลาดแรงงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว” นายทิตนันทิ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่ง กนง. จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น