รีเซต

ทุกข์ 'หมอนวด' ในวันที่ไม่ทันได้ตั้งตัว

ทุกข์ 'หมอนวด' ในวันที่ไม่ทันได้ตั้งตัว
มติชน
6 พฤษภาคม 2563 ( 12:01 )
583
ทุกข์ 'หมอนวด' ในวันที่ไม่ทันได้ตั้งตัว

ทุกข์ ‘หมอนวด’ ในวันที่ไม่ทันได้ตั้งตัว

หนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด คงไม่พ้นหมอนวดและร้านเสริมสวย ซึ่ง นิ่ม-สมฤทัย โพธิ์ศรีนวล เจ้าของร้านนวดสุปราณี บิ๊กซี ราษฎร์บูรณะ ก็เป็นหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน หลังจากมาตรการของร้านที่สั่งปิดร้านตั้งแต่ 18 มีนาคม ก็ทำให้หมอนวด 20 กว่าคนในร้าน เดือดร้อนไปตามๆ กัน

สมฤทัย เผยว่า เราเปิดร้านมาได้ 7-8 ปี พนักงานนวดของเราก็มีตั้งแต่อายุ 30-50 กว่าปี ปกติแล้ว เราให้เงินหมอนวดเป็นเปอร์เซ็นต์ และมีค่าประกันมือให้เขา วันที่ประกาศให้ปิดมันปุปปับมาก ตกใจกันหมดเพราะไม่รู้ว่าจะยังไง เราห่วงลูกน้อง แต่ละคนไม่ทันได้ตั้งตัว เศรษฐกิจก่อนหน้าก็ไม่ค่อยดี แต่ละคนไม่ได้มีเงินเก็บกัน ทางห้างก็มาบอกให้เราปิด เย็นนั้นก็ต้องบอกทุกคน ว่ามีความจำเป็นต้องปิดนะ ตอนแรกเรายังคิดว่าไม่เป็นไร เพราะลูกน้องก็มักลากลับบ้านสงกรานต์

แต่สถานการณ์ กลับหนักกว่าที่คิดนัก

“หมอนวดแต่ละคนไม่มีรายได้ แต่ยังมีรายจ่ายอยู่ ตัวเรายังพอมีเงินเก็บ แต่ลูกน้องมีภาระ ทั้งค่าเช่าบ้านที่เจ้าของก็ไม่ได้ลดราคา ค่ากินอยู่ ของที่เขาไปซื้อตุนไว้มันก็เริ่มจะหมด ต้องกินข้าวกับน้ำปลากินกันในครอบครัว มีบ้านหนึ่ง ลูกชายบอกแม่ว่าหากได้เงินแล้ว ซื้อนมข้นให้กินหน่อยได้ไหม เพราะกินขนมปังแห้งๆ มาทุกวันแล้ว บางคนเป็นหมอนวดทั้งแม่และลูก เจอแบบนี้เขาก็แย่ ทุกคนมีภาระลำบากกัน เขาไม่มีเงินเก็บ”

“เขาอยู่กรุงเทพฯก็ไม่รู้จะทำอะไร ลูกก็ปิดเทอม หลายคนก็กลับบ้านต่างจังหวัด ไปรับจ้างทำความสะอาดบ้าง สามีบางคนขับวินมอเตอร์ไซค์ ก็ไปรับจ้างซ่อมไฟนิดๆ หน่อยๆ ไปนึ่งข้าวขายตามโรงงานก็มี เขาก็พยายามให้มีรายได้”

และไม่ใช่ทุกคน ที่จะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ

“เราก็มีไลน์กลุ่มที่สร้างไว้คุยกันในร้าน ซึ่งทุกคนก็ขอเงินเยียวยาจากภาครัฐ เราแคปหน้าจอ สอนทุกคนเป็นขั้นตอนว่าต้องลงทะเบียนอย่างไร แต่คนที่ได้กับไม่ได้เงินเยียวยา 5,000 บาท มีครึ่งต่อครึ่ง บางคนก็ถูกตีมาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นเกษตรกรบ้าง ส่วนเราก็ไม่ได้ ก็รู้สึกสงสารเขา แต่ละคนพูดว่าเงิน 5,000 บาทนี้เหมือนต่อชีวิตให้เขา ได้นำไปจ่ายค่าบ้าน เหลือกินพันสองพันก็ยังดี ก็อยากให้รัฐเร่งฟื้นฟูสถานการณ์ และเยียวยาทุกคนอย่างเท่าเทียมจริง”

ส่วนหมอนวดอย่าง ป้าทอง-จิราภา เอกสะพัง วัย 59 ปี ซึ่งจากบ้านที่นครพนมมาเป็นหมอนวดที่ร้านเดียวกันได้ 8-9 ปีแล้วนั้น ก็บอกว่าตอนนี้เดือดร้อนสุดสุด

 

จิราภา เผยว่า เดิมเรามีอาชีพทำนา ก็มีปลูกผักขายบ้าง เดือนสิงหาคม ปี 55 เลิกกับสามี พ่อก็เสีย เลยเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนนวดและมาเป็นหมอนวด เช่าหอพักอยู่ใกล้ๆ ห้าง เดินไปเดินมาได้ พอร้านต้องปิด ก็ช็อกเลย เพราะเราเป็นเสาหลักของบ้าน เป็นรายได้เดียวของที่บ้าน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเราก็รับผิดชอบ ทั้งค่าผ่อนรถลูกสาว หนี้สินอื่นๆ ธ.ก.ส. ที่ไปกู้มาตั้งแต่ปี 42 ก็ต้องหาเงินมาใช้หนี้ มีค่าบ้าน และก็ส่งหลานเรียน 1 คน ก็เพิ่งจะขึ้นปีหนึ่ง ไหนจะค่าเช่าห้อง เดือนละ 1500 บาท เขาก็ไม่ได้ลดอะไรให้ แต่ก็ไปขอเขา เขาก็ช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่คิดให้เรา

ป้าทองบอกว่า ก่อนหน้านี้ ไปทำงานก็พอมีลูกค้าประจำ ได้เงินเดือนละ 15,000-20,000 บาท มาใช้หนี้ทั้งหมด ส่งที่บ้าน ก็แค่พอกินไป แต่พอไม่มีรายได้เข้ามาเลย ชีวิตก็ยาก จึงเลือกเดินทางกลับบ้านที่นครพนม เพราะอยู่ กทม.ไปก็ไม่มีงาน ไม่มีอะไรจะกิน กลับไปที่บ้านยังมีข้าวที่ทำนาไว้ ยังหาปูหาปลา มีปลาร้า ให้กินบ้าง และก็ขายน้ำปั่นแก้วละ 15-20 บาท ประทังชีวิต วันหนึ่งก็ได้ 4-5 แก้ว ไม่รู้จะขายใคร เพราะบ้านที่อยู่ก็ค่อนข้างชนบท เพื่อนหมอนวดหลายคนที่ยังอยู่กรุงเทพฯก็เริ่มไม่ไหว บอกว่าหากปิดร้านนานกว่านี้ก็คงขอกลับบ้านเช่นกัน

เมื่อไม่มีเงิน หนทางของหมอนวด ก็คือ “กู้หนี้นอกระบบ”

“เราลงทะเบียนขอเงินเยียวยา ก็ไม่ได้รับเงินเยียวยา เขาบอกเราเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเกษตรกร เพราะเคยไปลงทะเบียนไว้ตอนทำนา ก็เสียใจที่เราไม่ได้แล้วเพื่อนคนอื่นๆ ได้ทั้งๆ ที่กรอกทุกอย่างเหมือนกันหมด จะไปทำนา ก็หน้าแล้ง ปลูกผักอะไรก็ไม่ขึ้น ไม่ออกดอกออกผล ก็ต้องไปยืมเงินเขามา 2-3 หมื่น เพื่อให้อยู่ได้ไปเดือนๆ ก็โชคดี ได้คนข้างบ้านที่ช่วยเหลือกันมาตลอด เขาพอมีก็ให้เรายืม คิดดอกร้อยละ 5 แต่ก็ต้องทำ”

ไม่ใช่ “ป้าทอง” คนเดียวที่เดือดร้อน

จิราภา เล่าว่า ในครอบครัวของเธอมีสมาชิก 10 คน ลูกชายก็ดูแลครอบครัวเขาเอง 6 คน ไปทำงานคนเดียวเป็น รปภ.ได้เดือนละหมื่นกว่าบาท กิน 6 คนก็หมดแล้ว ลูกชายอีกคนยังอยู่กรุงเทพฯ จากเคยเป็นหมอนวดในห้างอีกแห่งหนึ่ง พอร้านปิด จึงได้งานเป็นคนลำเลียงสินค้าที่ห้างสรรพสินค้านั้นพอดี ก็ได้เงินวันละ 300 กว่าบาทพอกิน ตอนที่เงินยังไม่ออกก็มีโทรมาขอเงินแม่ไว้ซื้อข้าวบ้าง ก็ยังถือว่าโชคดี

“หากร้านเปิดตอนนี้ได้ ก็อยากจะกลับไป เพราะอยู่ที่นี่ก็ไม่รู้ว่าเงินที่กู้มาใช้จะหมดเมื่อไหร่ อยู่อย่างไม่มีรายได้ ไม่มีกิน ให้ไปทำงาน แม้ได้เงินนิดๆ หน่อยๆ พอกินข้าวก็ยังดี เพราะตอนนี้เดือดร้อนมากจริงๆ”  จิราภาทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง