รีเซต

พิษโควิด-เศรษฐกิจแย่ ทำเงินสะพัดบอลยูโรต่ำสุดรอบ 10 ปี - คนเล่นพนันบอลลดวูบ

พิษโควิด-เศรษฐกิจแย่ ทำเงินสะพัดบอลยูโรต่ำสุดรอบ 10 ปี - คนเล่นพนันบอลลดวูบ
ข่าวสด
22 มิถุนายน 2564 ( 15:15 )
43
พิษโควิด-เศรษฐกิจแย่ ทำเงินสะพัดบอลยูโรต่ำสุดรอบ 10 ปี - คนเล่นพนันบอลลดวูบ

 

พิษโควิด-เศรษฐกิจแย่ ทำเงินสะพัดบอลยูโรต่ำสุดในรอบ 10 ปี - คนเล่นพนันบอลวูบรอบ 5 ปี ชี้ตั้งใจเล่นเพราะหวังได้เงิน

 

 

พิษโควิด-เศรษฐกิจแย่ - นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในช่วงมหกรรมฟุตบอลยูโร ปี 2020 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-18 มิ.ย. 2564 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า การใช้จ่ายในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 มีเงินสะพัด 62,440.26 ล้านบาท ลดลง 20.3% ลดลงต่ำสุดรอบ 10 ปีตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 15,201.68 ล้านบาทลดลง 15.1% ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและสังสรรค์ 13,119.11 ล้านบาทลดลง 15.0% ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์รับสัญญาณ 2,082.57 ล้านบาท ลดลง 15.5% อื่นๆ 1,398.81 ล้านบาท ลดลง 6.0% และพบว่าการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเป็นการลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2006

 

 

ขณะที่การใช้จ่ายนอกระบบเศรฐกิจ (พนันบอล) 45,839.76 ล้านบาท ลดลง 22.3% ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งการเล่นพนันส่วนใหญ่เป็นการเล่นพนันออนไลน์ ส่วนสาเหตุที่เล่นพนันบอล 56.1% เป็นเพราะรางวัลจากการพนันบอล ซึ่งจากการสำรวจในทุกครั้งที่ผ่านมา ที่กลุ่มตัวอย่างจะเล่นเพราะความสนุก เพราะเป็นกระแส ไม่ได้หวังเงินหรือไม่ได้เล่นเป็นกอบเป็นกำ แต่การสำรวจครั้งนี้กลับพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีสัดส่วนเล่นเพราะหวังเงินพนันมากขึ้น และมีการใช้เงินในแต่ละนัดเฉลี่ย 1,000-5,000 บาท โดย 70.1% ใช้เงินมาจากเงินออมและรายได้ปกติ

 

 

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินจำนวนดังกล่าวจะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% แล้วทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 2% โดยความเชื่อมั่นของประชาชนจะสามารถกลับมาได้หากการกระจายวัคซีนของรัฐบาลทำได้ตามแผนและสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัดได้ สามารถเดินหน้าเปิดประเทศได้ตามการประกาศของนายกรัฐมนตรี 120 วัน โดยใช้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นโมเดล สร้างความเชื่อมั่น

 

 

นอกจากนี้ หอการค้าไทยจะมีการประเมินผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกครั้งหลังเดือนก.ค.นี้ โดยต้องรอดูเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ระบบก่อน แต่ในเบื้องต้นเห็นว่า วงเงินจากโครงการคนละครึ่งเพียง 3,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่อาจน้อยเกินไป ไม่เพียงพอกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มีเสียงตอบรับจากประชาชนน้อยไม่มีผลในการฟื้นเศรษฐกิจ และการเข้าพบนายกรัฐมนตรีของภาคเอกชนในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ เชื่อว่าจะมีการเสนอขอทบทวนวงเงินจำนวนดังกล่าวจากโครงการคนละครึ่งและการปัดฝุ่นโครงการ ช้อปดีมีคืน ซึ่งเป็นโครงการเดิมนำกลับมาใช้อีกครั้ง

 

 

รวมถึงการแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจในการเข้าถึงเงินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน การปรับโครงสร้างหนี้ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพราะยังติดขัดในระบบต่างๆ ไม่สามารถกระจายในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง