รีเซต

ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่างเทียบแผ่นดินไหวเนปาลปี 2015

ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่างเทียบแผ่นดินไหวเนปาลปี 2015
TNN ช่อง16
29 มีนาคม 2568 ( 23:24 )
42

รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ โสรลัมพ์ (Suttisak Soralump) ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี (Geotechnical Engineering) ได้แสดงความเห็นผ่านทาง Facebook โดยกล่าวถึงความจำเป็นในการติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองสากาย ประเทศเมียนมา อย่างต่อเนื่อง 

โดยเปรียบเทียบกับกรณีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเนปาลในปี 2015 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อกหลายระลอก ก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 อีกครั้งในแนวรอยเลื่อนเดียวกันหลังเหตุการณ์แรกเพียงหนึ่งสัปดาห์ สร้างความเสียหายซ้ำเพิ่มเติมต่ออาคารที่รอดจากแรงสั่นสะเทือนครั้งแรก

รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ โสรลัมพ์ ระบุว่า “ผมอยู่ในเหตุการณ์ตอนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 เห็นอาคารพังลงมาต่อหน้าต่อตา” และระบุเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีแผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) ตัวใหม่เกิดขึ้นที่สากาย แต่ก็ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่นอน เพราะธรรมชาติมีความไม่แน่นอนสูง 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่าอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) ที่ตามมาหลังเหตุการณ์เมื่อบ่ายวานนี้ มีแนวโน้มลดลงตามทฤษฎีการลดทอนของความถี่และขนาดเมื่อเวลาผ่านไป โดยระบุว่า “หากวิเคราะห์จากขนาด เช่น 7.1, 5.5, 5.2 ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นจะพบว่าความถี่และขนาดค่อย ๆ ลดลงตามกราฟและสมการทางคณิตศาสตร์ที่ใช้คาดการณ์ได้”

ในส่วนของผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครรองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ โสรลัมพ์ ได้ให้ความเห็นว่า อาฟเตอร์ช็อกที่มีขนาดต่ำกว่า 5 และอยู่ห่างออกไปเป็นพันกิโลเมตร ไม่น่าจะส่งผลจนสามารถรับรู้ได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เว้นแต่จะเกิดแผ่นดินไหวหลักครั้งใหม่ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยตามหลักสถิติ

โดยสิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างปลอดภัย และเสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง