รีเซต

“จุลพันธ์”จี้สรรพากรปฏิรูปภาษีหนุนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล

“จุลพันธ์”จี้สรรพากรปฏิรูปภาษีหนุนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล
ทันหุ้น
19 ธันวาคม 2567 ( 14:55 )
5

“จุลพันธ์”จี้สรรพากรปฏิรูปภาษีหนุนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล หลังรายได้จากภาษีของรัฐบาลต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิคถึง 2.6% ต่อจีดีพี ขณะที่ รัฐบาลยังมีรายจ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานควบคู่กับการจัดสวัสดิการให้กับคนในประเทศ

 

#ทันหุ้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วราชอาณาจักร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า รายได้จากภาษีของรัฐบาลไทย อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในแถบเอเซีย-แปซิฟิค ถึง 2.6 % ของจีดีพี ดังนั้น กรมสรรพากรในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลกว่า 80%จะต้องเร่งปฎิรูปภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ที่กรมสรรพากรจัดเก็บต่อจีดีพีของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ที่ 16.7% ในปัจจุบัน ขณะที่ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อการพัฒนาและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการจัดสวัสดิการให้แก่คนไทยทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นอาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยในระยะยาว

 

ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้กำหนดนโยบายที่จะปฏิรูประบบภาษี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ซึ่งมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาปฏิรูประบบภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยอยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่เป็นสมาชิกจะมีอัตราการจัดเก็บภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ย 34%

ขณะที่ สัดส่วนการจัดเก็บภาษีต่อจีดีพีของประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกจะอยู่ที่ 19.3% เท่ากับว่ารายได้ทางภาษีของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเอเซีย แปซิฟิค ประมาณ 2.6% ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้บนพื้นฐานความยั่งยืนทางการคลังจะทำให้สัดส่วนภาษีต่อจีดีพีไม่ต่ำกว่า 20%

 

นายจุลพันธ์ยังได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกรมสรรพากรในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดช่องว่างทางภาษี (Tax Gap) ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างรายได้ที่ควรจัดเก็บกับรายได้ที่จัดเก็บได้จริง กับรายได้ที่จัดเก็บได้ โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยติดตามผู้มีหน้าที่เสียภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อขยายฐานรายได้โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับประชาชน รวมถึงแนวทางการคืนภาษีซึ่งเป็นข้อร้องเรียนสำคัญจากผู้ประกอบการ

 

สำหรับเป้าหมายทางเศรษฐกิจในปี 2568 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 3% แต่รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้ขึ้นไปถึง 5% ภายในอนาคตอันใกล้ ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยในช่วงต้นปีหน้าจะดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และโครงการคุณสู้ เราช่วย ที่มุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง