รีเซต

อ่างเก็บน้ำอีสานใต้ล้นจ่อแตกเสียหาย! กรมชลฯแจงชัดจริงหรือไม่

อ่างเก็บน้ำอีสานใต้ล้นจ่อแตกเสียหาย! กรมชลฯแจงชัดจริงหรือไม่
TNN ช่อง16
27 กันยายน 2565 ( 10:33 )
47


กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการแชร์ข้อความบนโลกออนไลน์(Facebook)ว่า “หายนะมาเยือนภาคอีสานใต้แล้ว อ่างเก็บน้ำล้นทุกอ่างแล้ว ณ เวลานี้ จะระบายท้ายอ่างก็อ่วม แต่ถ้าไม่ระบายอ่างก็จะได้รับความเสียหายจากปริมาตรน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” นั้น 

นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ได้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ตลอดระยะเวลาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ณ วันที่ 26 กันยายน 2565 จำนวน 76 แห่ง มีดังนี้

1. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่

 1.1 อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 248 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 79% ของความจุอ่างฯ มีน้ำไหลลงอ่างฯประมาณวันละ 2.30

 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 1.21 ล้าน ลบ.ม. 

 1.2 อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 118 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 76% ของความจุอ่างฯ มีน้ำไหลลงอ่างฯประมาณวันละ 4.62 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 1.97 ล้าน ลบ.ม. 

 1.3 อ่างเก็บน้ำมูลบน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 106 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75 % ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 0.80 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 0.70 ล้าน ลบ.ม. 

 1.4 อ่างเก็บน้ำลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 207 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75 % ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯประมาณวันละ 2.63 ล้าน ลบ.ม.  มีการระบายน้ำวันละ 1.24 ล้าน ลบ.ม. 

 1.5 อ่างเก็บน้ำลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 88 ล้าน ลบ.ม. หรือ 73 % ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯประมาณวันละ 1.54 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 0.44 ล้าน ลบ.ม. 

2. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง  จำนวน 71 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้

 2.1 อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง น้อยกว่า 30% ของความจุ มีจำนวน 1 แห่ง

 2.2 อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 30%-50% ของความจุ มีจำนวน 2 แห่ง

 2.3 อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 51%-80% ของความจุ มีจำนวน 12 แห่ง

 2.4 อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 81%-100% ของความจุ มีจำนวน 13 แห่ง

 2.5 อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง มากกว่า 100% ของความจุ มีจำนวน 43 แห่ง 

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งยังมีความมั่นคงแข็งแรง สำหรับการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ ได้พิจารณาควบคุมให้มีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ และไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้าย ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากกว่า 100% ของความจุนั้น น้ำจะระบายไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้น ซึ่งเป็นอาคารที่ทำหน้าที่เพื่อให้น้ำล้นผ่าน ในปริมาณที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ พื้นที่ด้านท้ายบางแห่งอาจมีน้ำท่วมขังในบริเวณที่เป็นที่ลุ่มต่ำบ้าง เนื่องจากมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่มาเสริมด้วย

 สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโซกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว รวมทั้งกำชับให้คอยติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 2565 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับรู้ รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนการระบายน้ำจะคำนึงถึงผลกระทบด้านท้าย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ


ข้อมูลจาก  : กรมชลประทาน

ภาพจาก  :  กรมชลประทาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง