รีเซต

รฟท. ลุยเปิดประมูลชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์-ป้ายโฆษณา สถานีกลางบางซื่อ ก.พ.นี้

รฟท. ลุยเปิดประมูลชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์-ป้ายโฆษณา สถานีกลางบางซื่อ ก.พ.นี้
มติชน
25 มกราคม 2565 ( 09:01 )
205
รฟท. ลุยเปิดประมูลชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์-ป้ายโฆษณา สถานีกลางบางซื่อ ก.พ.นี้

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้อนุมัติหลักการให้ รฟท. ดำเนินการประกวดราคา (ประมูล) โครงการจัดหาเอกชนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) 12 สถานี รวมประมาณ 5.5 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดการจัดทำร่างเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ให้สมบูรณ์อีกเล็กน้อย คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะสามารถประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้ายื่นข้อเสนอได้ จากนั้นจะใช้ในเวลาประมาณ 5 เดือนในขั้นตอนการประมูล และน่าจะได้ผู้ชนะประมูลประมาณเดือนสิงหาคม 2565  

 

รายงานข่าวฯ ระบุอีกว่า การประมูลโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย 1.การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ 1 สัญญา 2.การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ 1 สัญญา 3.การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 แห่ง 1 สัญญา และ 4. การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาในสถานี 12 แห่ง 1 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 และ 2 เป็นสัญญาระยะยาว 20 ปี ส่วนสัญญาที่ 3 และ 4 เป็นสัญญาระยะสั้น 3 ปี ซึ่งเมื่อได้ผู้ชนะประมูลแล้ว รฟท. จะให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มดำเนินการพัฒนาทันที ทั้งนี้ คาดว่าตลอดอายุสัมปทานประมาณ 20 ปี จะสร้างรายได้ให้กับ รฟท. ประมาณ 7.9 พันล้านบาท หรือประมาณ 399 ล้านบาทต่อปี  

 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า รฟท. ได้มีการปรับลดจำนวนพื้นที่ในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อลงประมาณ 5 พัน ตร.ม. จากเดิม 5.2 หมื่นตร.ม. เหลือประมาณ 4.7 หมื่นตร.ม. เนื่องจากต้องใช้พื้นที่บางส่วนสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ส่วนพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ยังคงจำนวนพื้นที่เท่าเดิม โดยพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ จำนวนพื้นที่ประมาณ 2,300 ตร.ม., พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี พื้นที่ประมาณ 3,700 ตร.ม. และพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี ประมาณ 2,000 ตร.ม. 

 

รายงานข่าวฯ ระบุว่า ปัจจุบันเริ่มมีประชาชนมาใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องหลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนักอีกระลอกช่วงต้นปี 2565 ทำให้ผู้โดยสารลดน้อยลง ขณะนี้ ผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 8 พันคน นอกจากนี้ ยังมีประชาชนบางส่วนเดินทางมาเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนั้น ในระหว่างที่การประมูลพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณา สถานีกลางบางซื่อ และ 12 สถานียังไม่แล้วเสร็จ รฟท. จึงได้จัดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (คีออส) และจัดศูนย์อาหารชั่วคราวที่สถานีกลางบางซื่อ บริเวณชั้น 1 ประตู 4 ไว้ให้บริการประชาชนไปก่อน  

 

รายงานข่าวฯ ระบุอีกว่า ส่วนการเปิดให้บริการรถไฟทางไกล ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผนจะเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 นั้น ขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดให้บริการวันใด ต้องรอผลการเช็กลิสต์ตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ให้จัดทำเช็กลิสต์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมให้คำแนะนำ เพื่อตรวจสอบผลกระทบกับประชาชน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อของประชาชน และการขนส่งสินค้า การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความปลอดภัยในการเดินรถ ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง