ยลโฉม "มรกต-ไพลิน" นักปีนเขาเจอบน “มงบล็อง” ได้ครึ่งหนึ่ง 2.8 ล้านบาท
ยลโฉม "มรกต-ไพลิน" - วันที่ 8 ธ.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักปีนเขา ที่บังเอิญเจอขุมทรัพย์ที่มีอัญมณีล้ำค่า บนเขา “มงบล็อง” ของฝรั่งเศส และได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของทางการท้องถิ่นในเทศบาลชามอนี หลังพยายามหาครอบครัวเจ้าของทรัพย์แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งน่าจะเป็นของผู้โดยสารคนหนึ่งบนเที่ยวบินที่ตกเมื่อราว 50 ปีก่อน
เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธ.ค. เพจเฟซบุ๊กสภาเทศบาลชามอนี-มง-บล็อง จังหวัดโอต-ซาวัว แคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ พื้นที่ที่ค้นพบกล่องขุมทรัพย์ โพสต์ภาพถ่ายเมรกตและไพลินที่นักปีนเขาผู้นี้เจอเมื่อปี 2556 และส่งมอบแก่ตำรวจตามกฎหมายฝรั่งเศส
โฆษกสภาท้องถิ่นแห่งนี้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ผู้เชี่ยวชาญอัญมณีจัดการแบ่งอัญมณีให้นักปีนเขาและสภาท้องถิ่นแห่งนี้คนละครึ่งเท่าๆ กัน มูลค่าคนละ 75,000 ยูโร (ราว 2,838,600 บาท)
สภาเทศบาลเชามอนี-มง-บล็องโพสต์แจ้งข่าวด้วยว่า สภาจะนำอัญมณีเหล่านี้ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์คริสตัลเชามอนี ซึ่งอยู่ระหว่างการตกแต่งใหม่ และมีกำหนดเปิดอีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค. ที่จะถึงนี้
สภาเทศบาลเชามอนี-มง-บล็องให้ข้อมูลด้วยว่า อัญมณีล้ำค่าดังกล่าวมากับเครื่องบินโบอิง 707 สายการบินแอร์อินเดีย ชื่อเครื่องบิน "กัญจนชังฆา" ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกบนเขามงบล็องเมื่อปี 2507 คร่าชีวิตยกลำ 117 ราย
เครื่องบินตกในครั้งนั้นเป็นเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดที่ชี้ว่า เที่ยวบินดังกล่าวถูกเครื่องบินขับไล่ หรือขีปนาวุธยิงตก และหนึ่งในผู้โดยสารเที่ยวบินมรณะดังกล่าว คือ นายโฮมี เจ. ภาภา (Homi J Bhabha) นักฟิสิกส์ซึ่งรู้จักกันในนาม “บิดา” ของโครงการนิวเคลียร์ของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม จุดเดียวกันนี้เคยมีเครื่องบินของสายการบินแอร์ อินเดีย อีกกลำ ชื่อ "มาลาบาร์ ปรินเซส" ตกเมื่อปี 2492 คร่าชีวิตยกลำ 48 ราย
ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวมงบล็องระบุว่า หลัง 2 เหตุการณ์ตั้งแต่นั้นมา ซากเครื่องบินมักโผล่ออกมาจากก้นธารน้ำแข็ง รวมถึงโลหะ ลวด และแม้แต่ชิ้นส่วนของล้อที่ค้นพบในปี 2529
กระทั่งเดือนก.ค. 2563 ชุดหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในสภาพดีตั้งแต่ปี 2493 โผล่ขึ้นมาจากธารน้ำแข็งที่ละลายในฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในชุดนั้นลงวันที่ 20 ม.ค. 2493 เป็นของเนชั่นแนลเฮรัลด์ของอินเดีย ซึ่งรายงานข่าวว่า นางอินทรา กานที ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย