รีเซต

กลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้าง มุ่งร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน-ความทันสมัย

กลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้าง มุ่งร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน-ความทันสมัย
Xinhua
26 ธันวาคม 2566 ( 17:18 )
43
กลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้าง มุ่งร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน-ความทันสมัย

ปักกิ่ง, 26 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (25 ธ.ค.) คณะผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) จำนวน 6 ประเทศ แสดงคำมั่นร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน และการสร้างความทันสมัยภายในภูมิภาค

แถลงการณ์จากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 4 ทางออนไลน์ระบุว่าคณะผู้นำจากกัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ยืนยันการเดินหน้าเพิ่มความไว้วางใจและความเคารพซึ่งกันและกัน การประสานยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติ การดำเนินความร่วมมือเชิงปฏิบัติอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการรับมือกับความท้าทายร่วมกัน

คณะผู้นำข้างต้นเห็นพ้องจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง รวมถึงเพิ่มความพยายามสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ในกลุ่มประทศแม่โขง-ล้านช้างให้ดียิ่งขึ้น

"แถลงการณ์เนปิดอว์" (Nay Pyi Taw Declaration) ระบุว่าคณะผู้นำยืนยันความมุ่งมั่นจะทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายร่วม เห็นพ้องจะเดินหน้าการพัฒนาของแถบการพัฒนาเศรษฐกิจล้านช้าง-แม่โขง (LMEDB) ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และใช้โอกาสจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และการฟื้นฟูพลังความมีชีวิตชีวา

คณะผู้นำข้างต้นแสดงความพร้อมดำเนินความร่วมมือด้านต่างๆ เพิ่มเติมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ร่วมมือกันส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเร่งรัดการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2030 ขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ขณะเดียวกันคณะผู้นำข้างต้นยืนยันความตั้งใจจะส่งเสริมกรอบความร่วมมือฯ ภายใต้หลักการปรึกษาหารือรอบด้าน มีส่วนร่วมส่งเสริม และผลประโยชน์ร่วมกัน เคารพและปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎบัตรอาเซียน กฎหมายและข้อบังคับภายในประเทศของประเทศสมาชิก พร้อมกับจะเดินหน้ายึดถือแนวทางความเท่าเทียม การพัฒนา การปฏิบัติจริงและการมีประสิทธิผล การเปิดกว้างและความครอบคลุม

นอกจากนั้นคณะผู้นำข้างต้นแสดงความเต็มใจจะสนับสนุนความร่วมมือที่มีคุณภาพสูงภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) แผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) แผนริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก (GSI) และแผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) ที่นำเสนอโดยจีน

กลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ ทั้งหกยังเผยแพร่แผนปฏิบัติว่าด้วยกรอบความร่วมมือฯ ระยะ 5 ปี (2023-2027) ซึ่งมุ่งส่งเสริมการเป็นเพื่อนบ้านอันดี มิตรภาพ และความร่วมมือเชิงปฏิบัตินกลุ่มประเทศตามกรอบความร่วมมือฯ ขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พัฒนาแถบการพัฒนาฯ ให้แข็งแกร่งและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ร่วมสร้างภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงที่สงบ ปลอดภัยและมั่นคง เจริญรุ่งเรือง สวยงาม และรักใคร่กลมเกลียว รวมถึงสร้างความก้าวหน้าใหม่สู่ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันอันมุ่งสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น  ในกลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้าง

ทั้งหกประเทศยังออกแผนริเริ่มร่วมว่าด้วยการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมกรอบความร่วมมือฯ ซึ่งระบุว่าการพัฒนากรอบการทำงานของความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือเอสทีไอ (STI) เพิ่มเติมจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของสังคม ตลอดจนสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ในกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขง

คณะผู้นำข้างต้นนำเสนอการยกระดับบทบาทของความร่วมมือเอสทีไอในด้านต่างๆ ของความร่วมมือระดับภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนผู้มีความรู้ความสามารถทางเอสทีไอ เกื้อหนุนบทบาทของเอสทีไอในความร่วมมือบรรเทาความยากจน เพิ่มพูนความร่วมมือเอสทีไอเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม สนับสนุนความร่วมมือเอสทีไอในภาคสาธารณสุข ส่งเสริมความร่วมมือเอสทีไอทางดิจิทัล ยกระดับความร่วมมือทางเทคโนโลยีอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกในด้านนวัตกรรม การเป็นผู้ประกอบการ และระบบนิเวศสตาร์ตอัป ตลอดจนสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลไกการประชุมสำหรับระเบียงนวัตกรรมกรอบความร่วมมือฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง