รีเซต

“นักลงทุนดิจิทัล” ชงขยายเวลาเก็บภาษีคริปโต 1-2 ปี สรรพากร รับ ไม่ได้พิจารณาสภาพคล่อง

“นักลงทุนดิจิทัล” ชงขยายเวลาเก็บภาษีคริปโต 1-2 ปี สรรพากร รับ ไม่ได้พิจารณาสภาพคล่อง
มติชน
21 มกราคม 2565 ( 10:34 )
35
“นักลงทุนดิจิทัล” ชงขยายเวลาเก็บภาษีคริปโต 1-2 ปี สรรพากร รับ ไม่ได้พิจารณาสภาพคล่อง

“มาดามเดียร์” เผย “นักลงทุนดิจิทัล” ขอ “กมธ.การเงิน” ขยายเวลาเก็บภาษีคริปโต 1-2 ปี เหตุรูปแบบไม่ชัดเจน หวั่นไม่เป็นธรรม ด้านสรรพากร รับ ไม่ได้พิจารณาผลกระทบสภาพคล่อง กรณีจัดเก็บภาษีหุ้น

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกมธ.การเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล หลังเชิญ อธิบดีกรมสรรพากร ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO และผู้ก่อตั้ง Itax โดยผู้เข้าร่วมอยากให้มีการทบทวนและศึกษาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีออกไปอีก 1-2 ปี เพราะยังมีความไม่เป็นธรรมในการเก็บภาษีเฉพาะกำไร รวมไปถึงความไม่ชัดเจนของรูปแบบการเก็บภาษี นอกจากนี้ ยังเกรงว่าด้วยการแข่งขันที่สูงการเก็บภาษีอาจจะทำให้คนหนีไปเทรดในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งอาจจะใช้ข้อมูลบัญชีปลอมในการเทรดเพื่อหนีภาษี

 

โดยนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุว่า การเก็บภาษีมันจะกระทบกับสภาพคล่องของตลาดเพราะนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนระยะสั้นจะหายไป นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังชี้แจงเพิ่มโดย ยกตัวอย่างกรณีประเทศสวีเดนที่ผู้ประกอบการย้ายไปจดทะเบียนในตลาดประเทศอื่นแทน อันมาจากปัญหาสภาพคล่องในตลาดที่หายไปจากผลนโยบายภาครัฐ เพราะการระดมทุนในตลาดที่มีสภาพคล่องน้อยจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการธุรกิจสูงขึ้น

 

ด้านนายยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO และผู้ก่อตั้ง Itax ระบุว่า การจัดเก็บภาษีที่จะต้องยื่นแบบเงินได้ส่วนบุคคลในปีนี้ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีรายได้ของปี 2564 ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะนักลงทุนยังไม่ได้เตรียมตัว เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้ หรือกระทั่ง exchange ก็ไม่ได้เตรียมบุคลากรและระบบเพื่อรองรับการจัดเก็บหลักฐานเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการชำระภาษี และหากจะมีการจัดทำระบบเพื่อให้สรรพากรจัดเก็บภาษีได้จริงก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าอีก 1 ปีในการพัฒนาระบบ ซึ่งตรงนี้ยังมีอุปสรรคอยู่มาก ไม่นับเรื่องความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี

 

ทางด้านกรมสรรพากร ระบุว่า กรมมีหน้าที่ที่ต้องจัดเก็บรายได้ แต่ยอมรับยังไม่ได้พิจารณาผลกระทบเรื่องสภาพคล่องหากมีการจัดเก็บภาษีหุ้น อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีหุ้นยังอยู่เพียงช่วงระหว่างการศึกษาเท่านั้น เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีคริปโตยังมีปัญหาในการปฏิบัติจริง และจะบังคับใช้เมื่อได้ทำการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว พร้อมรับฟังทุกฝ่าย

 

โดยขณะนี้กำลังศึกษาผลกระทบรอบด้านอยู่ แต่ที่ได้ดำเนินการมาบางส่วนคือ ความเป็นธรรมทางธุรกิจ แต่ยังไม่ได้คิดเรื่อง liquidity ต้องขอข้อมูลเพิ่ม อยากบอกว่า ภาษีมีหน้าที่อำนวยรายได้ให้แก่รัฐ ซึ่งจุดนี้ยกเว้นมาแล้วสามสิบปี โดยปลายปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์โตมา 22 เท่าจากปี 2534 ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดีแล้ว ดังนั้นคิดว่า การจัดเก็บภาษีที่ 0.1 ไม่ได้เยอะเกินไป ในแง่ความเป็นธรรม จากรายงานของ ADB พบกว่า การเก็บ FTT ภาษี 94 เปอร์เซ็นต์ ปกติมาจาก นักลงทุนรายใหญ่ แสดงว่าภาษีนี้อยู่กับกลุ่มคนมีรายได้สูง

 

กรมสรรพากร ระบุด้วยว่า ปัจจุบันได้ศึกษาในส่วนของต้นทุนผู้ลงทุน โดยเทียบกับค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์และภาษีค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ ของ transaction cost เทียบกับมาเลเซียถือว่ายังไม่สูงเกินไป ส่วนฮ่องกงเก็บทั้งฝั่งซื้อและขาย ต้นทุนของการเทรดของไทยอยู่ราวๆ 0.22 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ายังต่ำกว่าบางประเทศ นอกจากนี้แทบทุกประเทศในอาเซียน มีการเก็บภาษีตัวใดตัวนึงอย่างฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เก็บทั้ง cap tax และ transaction tax ไทยถือว่าน้อยสุดในอาเซียน ซึ่งมันคงสร้างผลกระทบแต่ไม่มากนัก

 

สำหรับตลาดคริปโต ทราบผลกระทบอยู่แล้ว และมีการพูดคุยแล้ว ทุกข้อเสนอแนะเรารับทราบและพยายามปรับปรุงอยู่ เข้าใจว่าห่วงเรื่องความชัดเจน แต่เรื่องคำนวนแบบ capital gain tax กำลังศึกษาเรื่องการปรับกฏหมาย และอนาคตของตลาดกำลังศึกษาว่าจะให้ exchange เก็บแทน หรือ เก็บแบบ FTT ที่กระทบรายย่อยน้อยที่สุด ยังอยู่ระหว่างทำแบบสอบถามกับนักลงทุน เรื่องการบันทึกการลงทุนของนักลงทุนเป็นรูปแบบใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง