รีเซต

ศบค.ชวน "โรงแรม-รพ." เข้าเป็นสถานกักกันโรคฯ ทางเลือก เรียกเก็บเงินผู้เข้ากัก

ศบค.ชวน "โรงแรม-รพ." เข้าเป็นสถานกักกันโรคฯ ทางเลือก เรียกเก็บเงินผู้เข้ากัก
มติชน
21 พฤษภาคม 2563 ( 13:48 )
267
ศบค.ชวน “โรงแรม-รพ.” เข้าเป็นสถานกักกันโรคฯ ทางเลือก เรียกเก็บเงินผู้เข้ากัก

โควิด-19 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีชุดข้อมูลเปิดเผยว่า ขณะนี้มี Alternative State Quarantine ซึ่งเป็นทางเลือกในการกักกันโรคฯ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อยกเว้นในการเดินทางเข้าประเทศ เช่น ผู้ทำธุรกิจที่มีใบอนุญาตในการทำงาน เจ้าหน้าที่สถานทูต ระบุว่าผู้เดินทางบางรายที่มีทุนทรัพย์และต้องการที่จะชำระค่าสถานที่กักกันโรคฯ เอง โดยเป็นโรงแรมรับรองที่สะดวกสบายกว่าพื้นที่ที่รัฐฯ จัดไว้ รวมทั้งขอรับการดูแลจากสถานพยาบาลที่ต้องการเลือกเองได้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกสบายในการกักกันโรคฯ 14 วัน

“เราได้ทดลองทำมาระยะหนึ่ง โดยในโรงแรมเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน จับมือกัน และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าไปดูแลระบบป้องกันโรค ไว้ใจได้ ดูแลได้ แต่จ่ายกันเอง เมื่อครบ 14 วัน จะมีบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปตรวจ และให้ใบรับรองแพทย์ ใบรับรอง เพื่อให้กลับไปทำงานได้ โดยมีผู้สนใจจำนวนมาก และคาดว่าจะมีการพัฒนาต่อไป หากหมด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังมีคนเดินทางเข้ามา และสถานการณ์โรคในต่างประเทศยังมีจำนวนพุ่งสูงขึ้น ภาครัฐอุ้มอย่างเดียวไม่ไหว จะต้องมาจ่ายเงินแทนคนที่จะเข้ามาที่มากมายกว่านี้ ภาพที่จะเกิดขึ้นคือ หากเดินทางเข้ามาก็จะต้องเลือกโรงแรมในการกักกันโรคฯ ตั้งแต่ 5-2 ดาว” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรียนทางโรงแรมหรือโรงพยาบาลที่สนใจจะเข้าร่วมการดูแลผู้เดินทางจากต่างประเทศที่จะต้องเข้ากักกันโรคฯ เสนอตัวเข้ามาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องกักกันโรคฯ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ภารกิจนำคนไทยตกค้างกลับประเทศ ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 21 พฤษภาคม มี 4 เที่ยวบิน จาก 1.ประเทศจีน เมืองกว่างโจ เวลา 17.45 น. จำนวน 87 คน เป็นผู้ป่วย นักศึกษาและคนไทยตกค้าง 2.ประเทศออสเตรเลีย เมืองซิดนีย์ เวลา 17.20 น. จำนวน 295 คน เป็นนักเรียน นักศึกษาและคนทำงาน 3.ประเทศเวียดนาม เมืองฮานอย เวลา 11.15 น. จำนวน 15 คน เป็นนักเรียน นักศึกษาและคนไทยตกค้าง 4.ประเทศอินเดีย เมืองกัลกัตตา เวลา 19.25 น. จำนวน 215 คน เป็นนักเรียน นักศึกษาและคนทำงาน

วันที่ 22 พฤษภาคม มี 4 เที่ยวบิน จาก 1.สหรัฐอเมริกา(ผ่านเกาหลีใต้) เวลา 22.40 น. จำนวน 100 คน เป็นคนไทยตกค้าง 2.ประเทศเกาหลีใต้ กรุงโซล เวลา 22.00 น. จำนวน 80 คน เป็นคนไทยตกค้าง 3.ประเทศกาตาร์ เมืองโดฮา เวลา 19.25 น. จำนวน 216 คน เป็นนักท่องเที่ยว แรงงาน 4.ประเทศดูนิเซีย เมืองดูนิส เวลา 08.55 น. จำนวน 4 คน เป็นคนไทยตกค้าง

วันที่ 23 พฤษภาคม มี 3 เที่ยวบิน จาก 1.ประเทศเยอรมนี เมืองแฟรงก์เฟิร์ต 2.ประเทศอินโดนิเซีย จากกาตาร์ 3.บังกลาเทศ เมืองธากา

วันที่ 24 พฤษภาคม มี 3 เที่ยวบิน จาก 1.เมืองไทเป 2.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมืองอาบูดาบี 3.ประเทศคูเวต

วันที่ 25 พฤษภาคม มี 4 เที่ยวบิน จาก 1.ประเทศศรีลังกา-มัลดีฟส์ (โคลัมโบ-มาเลเซีย) 2.ประเทศเกาหลีใต้ กรุงโซล 3.ประเทศญี่ปุ่น กรุงโตเกียว จำนวน 3 เที่ยวบิน

วันที่ 26 พฤษภาคม มี 3 เที่ยวบิน จาก 1.ประเทศมาเลเซีย 2.ประเทศอิตาลี 3.เมืองไทเป

วันที่ 27 พฤษภาคม มี 4 เที่ยวบิน จาก 1.ประเทศแคนาดา(ป่านประเทศญี่ปุ่น) 2.ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรุงอัมสเตอร์ดัม 3.ประเทศอินโดนีเซีย เมืองสุราบายา 4.ฮ่องกง

วันที่ 28 พฤษภาคม มี 3 เที่ยวบิน จาก 1.ประเทศเวียดนาม เมืองโฮจิมินห์ 2.ประเทศออสเตรเลีย เมืองเมลเบิร์น 3.สหรัฐอเมริกท(ผ่านเกาหลีใต้)

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถิติคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เดินทางเข้ารวม 256 คน ลงทะเบียนไว้ 343 คน ได้แก่ 1.ประเทศเมียนมา 10 คน 2.ประเทศมาเลเซีย 236 คน 3.สาธารณรัฐประชาชนลาว 8 คน และ 4.ประเทศกัมพูชา 2 คน โดยทุกคนจะต้องเข้าสถานที่กักกันตัวของพื้นที่ (Local quarantine)

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า รายงานข้อมูลสถานการณ์ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยและต้องเข้าสถานที่กักกันของรัฐบาล State quarantine และ Local quarantine ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน -วันที่ 20 พฤษภาคม สะสมรวม 22,535 ราย กลับบ้านแล้ว 13,122 ราย เหลืออยู่ 9,413 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 102 ราย ซึ่งอยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล 22 ราย และรักษาหายกลับบ้านแล้ว 80 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สรุปการใช้งานแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค สธ. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 21.00 น. พบว่า ภาพรวมการใช้งานยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 1.จำนวนร้านค้าลงทะเบียนจำนวน 73,295 ร้าน 2.จำนวนผู้ใช้งาน 6,333,746 คน และ 3.จำนวนการเข้าใช้งาน การเช็กอิน 11,570 ครั้ง / เช็กเอาท์ 8,652,113 ครั้ง / ประเมินร้าน 5,200,209 ครั้ง

“อยากให้ตัวเลขเหล่านี้ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ขอให้ร้านค้าเล็กๆ หรือโรงพยาบาล เข้ามาลงทะเบียน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น และผลการใช้งานพบว่ามีการประเมินร้านค้า ส่วนใหญ่อยู่ที่ 5 คะแนน ซึ่งต้องขอขอบคุณในความร่วมมือ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผลการตรวจมาตรการผ่อนคลาย ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม จำนวน 21,697 แห่ง พบว่า ปฏิบัติไม่ครบ จำนวน 31 แห่ง เช่น การเว้นระยะห่าง จำนวนร้อยละ 53.2 การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ร้อยละ 16.3 มีสบู่และเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ร้อยละ 12.0

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง