รีเซต

จีนขุดพบ 'ซีกไม้' อายุ 1,700 ปี บันทึกพัฒนาการบ้านเมือง

จีนขุดพบ 'ซีกไม้' อายุ 1,700 ปี บันทึกพัฒนาการบ้านเมือง
Xinhua
23 ธันวาคม 2566 ( 19:21 )
39

(แฟ้มภาพซินหัว : บ่อโบราณที่ซึ่งขุดพบซีกไม้มากกว่า 2,000 อัน บริเวณซากเมืองโบราณตูโถวในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน)

ฉางซา, 23 ธ.ค. (ซินหัว) -- คณะนักโบราณคดีในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน รายงานการขุดพบซีกไม้อายุมากกว่า 1,700 ปี จำนวนเกือบ 10,000 อัน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับการศึกษาพัฒนาการและการปกครองภูมิภาคนี้ในยุคโบราณกาล

รายงานระบุว่าซีกไม้เหล่านี้จากแคว้นอู๋ของยุคสามอาณาจักร (220-280 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ถูกขุดพบที่ซากเมืองโบราณตูโถว ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอหลินอู๋ของเมืองเฉินโจวราว 13 กิโลเมตร และเริ่มถูกขุดสำรวจในปี 2016

ซากเมืองโบราณตูโถวประกอบด้วยพื้นที่ทำการของทางการ พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน พื้นที่ทางอุตสาหกรรม และพื้นที่ฝังศพ โดยซีกไม้ทั้งหมดถูกค้นพบในบ่อโบราณ บริเวณพื้นที่ทำการของทางการ

อนึ่ง ซีกไม้หรือซีกไผ่ถือเป็นตัวกลางหลักของการอ่านการเขียนในหมู่ประชาชนชาวจีนโบราณ ก่อนมีการประดิษฐ์และใช้กระดาษอย่างแพร่หลาย โดยปัจจุบันมีการขุดพบซีกไม้หรือซีกไผ่โบราณในจีนมากกว่า 300,000 อันแล้ว

เฉินปิน เจ้าหน้าที่สถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลหูหนาน ซึ่งเป็นผู้นำการขุดสำรวจ เผยว่าซีกไม้เหล่านี้เป็นบันทึกทางการของอำเภอหลินอู๋เกี่ยวกับการแบ่งเขตปกครอง การจัดเก็บภาษี การขึ้นทะเบียนบ้าน การเพาะปลูก การทำเหมือง ฯลฯ

เฉินเสริมว่าพื้นที่ทำการของทางการล้อมรอบด้วยคูน้ำ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมที่แต่ละด้านยาว 100 เมตร ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างราว 300 เมตร

นอกจากนั้นมีการค้นพบซากโรงถลุงแร่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างราว 10 กิโลเมตร รวมถึงหลุมศพราว 400 หลุม

(แฟ้มภาพซินหัว : ซีกไม้ที่ขุดพบจากซากเมืองโบราณตูโถวในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน)[/caption]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง