รีเซต

‘คลัง’ เดินหน้าขยายฐานภาษีหลังรัฐบาลกู้เงินเยอะ - สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ K-shape

‘คลัง’ เดินหน้าขยายฐานภาษีหลังรัฐบาลกู้เงินเยอะ - สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ K-shape
ข่าวสด
9 กุมภาพันธ์ 2565 ( 18:08 )
67

ข่าววันนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Future of Growth Forum: Thailand Vision 2030” ว่า คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 3.5-4.5% แม้ว่าจะยังอยู่ภายใต้การระบาดของโควิด-19 แต่หากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันในการลดการแพร่ระบาดก็จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจได้

 

ส่วนทิศทางของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ จนถึงช่วง 10 ปีข้างหน้า มองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น หากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ก็อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการหารือถึงเรื่องการปรับตัวเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกับเศรษฐกิจไทยใน 10 ปีข้างหน้า

 

ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 2. เทคโนโลยีดิจิทัล 3. การแพทย์ และบริการด้านสาธารณสุข 4. การสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็ง 5. การท่องเที่ยว 6. ความคุ้มครองทางสังคม และ 7. โครงสร้างประชากร และสังคมผู้สูงอายุ

 

ส่วนนโยบายการคลังในอนาคตหลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา มีภาระทางการคลังค่อนข้างมาก จากการจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็น คือ 1. ความยั่งยืนทางการคลัง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการทางการคลัง และการจัดเก็บรายได้ การเร่งขยายฐานภาษี ฐานรายได้ ตรงนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐบาลประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

และ 2. กรอบกติกาภาษีของโลกใหม่ ที่เน้นในการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ผ่านข้อตกลงการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งจะช่วยความยั่งยืนด้านภาษี และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในอนาคต

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มั่นคง ส่วนในระยะยาวเศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญปัญหา ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความท้าทายในเรื่องสังคมผู้สูงวัย ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้า การมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นต้น ดังนั้นหากไทยไม่มีการปรับโครงสร้างจะทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวของเราเติบโตได้อย่างจำกัดมากขึ้น

 

“โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ และผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาคการเกษตรยังไม่ขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพราะยังอยู่ในรูปแบบการผลิตแบบเดิม ไม่มีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า และกำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ด้านอุปสงค์ใน 2-3 ปีข้างหน้ายังมีข้อจำกัด เพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากโควิด-19 ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่วนเศรษฐกิจโลกแม้ยังขยายตัวได้ดี แต่ในอนาคตหากมีปัญหาสงครามการค้าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย” นายดนุชา กล่าว

 

นายดนุชา กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะเป็นลักษณะ K-shape บางภาคเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นระบบเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องพยายามลดความเสี่ยงให้มากขึ้น ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจภาคใดภาคหนึ่งมากจนเกินไป และทำให้ภาคเศรษฐกิจยืดหยุ่นมากขึ้น ลดความเสี่ยง และสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทำให้เศรษฐกิจยั่งยืนมากขึ้น และระบบเศรษฐกิจในอนาคตต้องคำนึงเรื่องการกระจายอำนาจการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทย

 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โจทย์สำคัญของประเทศไทยในอนาคต คือ การเป็นส่วนหนึ่งของโลกใหม่อย่างสง่างาม และมีบทบาทสำคัญ ไม่ติดอยู่ในโลกเก่า โดยบทบาทของภาคการเงินของธนาคารกลางในการสนับสนุนให้ประเทศเดินไปข้างหน้า อยู่ภายใต้ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. เทคโนโลยีดิจิทัล และ Green Economy และ 2. นวัตกรรมที่กระแส ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง มาเร็ว มาแรง แต่ก็อยู่กับเราไม่นาน ดังนั้นหน้าที่สำคัญของภาคการเงินคือ จะทำอย่างไรที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของภาคเศรษฐกิจไปสู่โลกใหม่ ที่เน้นความยั่งยืน ควบคู่กับระบบดิจิทัลมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง