รีเซต

3 ขั้นตอนรับมือ ‘สึนามิ’ รอดแน่นอนหากภัยคลื่นยักษ์มาถึง

3 ขั้นตอนรับมือ ‘สึนามิ’ รอดแน่นอนหากภัยคลื่นยักษ์มาถึง
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2565 ( 12:23 )
309

จากกระแสข่าวเกาะนิโคบาร์ เกิดแผ่นดินไหว ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้รวมกว่า 30 ครั้ง สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต พังงา และ จังหวัดชายฝั่งอันดามันเป็นอย่างมากว่าจะเกิดคลื่นสึนามิซ้ำรอยเหมือนในอดีต เนื่องจากจุดแผ่นดินไหวห่างจากชายฝั่งของประเทศไทยราว 500 กิโลเมตร 

จากประเด็นการเกิดสึนามิ  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาแถลงข่าวระบุว่าจากกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว บริเวณทะเลอันดามัน ประเทศอินเดีย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.พังงา ซึ่งศูนย์กลางจะอยู่ห่างจาก จ.พังงา ประมาณ 500 กิโลเมตร ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นลักษณะเป็นประจุ ไม่ได้มีแผ่นดินไหวหลัก 

โดยจะเป็นกลุ่มของแผ่นดินไหวที่ขนาดปานกลางเกิดขึ้นในบริเวณใกล้ๆ กันแล้วก็ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งกลุ่มของแผ่นดินไหวนี้จะเกิดขึ้นตามแนวการขยายตัวของพื้นมหาสมุทรอันดามัน ที่มีลักษณะการเลื่อนตัวแบบปกติ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะเป็นการแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง โดยภาวะน้ำทะเลหนุนในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตามที่มีประชาชนเป็นกังวลนั้น เนื่องจากคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้เกิดคลื่นสูง 2-3 เมตร 

พร้อมกันนี้ได้ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด 'สึนามิน้อยมาก'  เพราะไม่เกิดการเลื่อนตัวในแนวดิ่ง และมีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยมีกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นแจ้งเตือนไปยังช่องทางต่างๆ และแจ้งไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทราบ เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าทุ่นสึนามิ ของหลายประเทศไม่ส่งสัญญาณขอเรียนว่า ในกรณีนี้จะเริ่มจากการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวก่อน ถ้าระดับตั้งแต่ 7.8 ขึ้นไป ทาง NOAA จะส่งข้อมูลมายังกลุ่มประเทศเสี่ยงว่าจากการวิเคราะห์ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นสึนามิ ดังนั้นยืนยันว่าประเทศไทยยังได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันในกรณีที่ไม่มีทุ่นสึนามิทำงานอยู่ในขณะนี้ แต่ยังมีสถานีวัดระดับน้ำทะเลทั้งของประเทศไทย ประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจากจุดที่วัดระดับน้ำทะเล ที่ประเทศอินเดีย จะส่งข้อมูลว่ามีการเกิดสึนามิมายังประเทศไทย ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะกดสัญญาณแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ ใน 6 จังหวัดต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เผยระบุว่าแผ่นดินไหว และ สึนามิ เป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลา สถานที่เกิด และระดับความรุนแรงได้ ดังนั้นควรที่จะเรียนรู้ เตรียมพร้อม ซักซ้อมรับมือคลื่นสึนามิ โดยมี 3 ขั้นตอนหลักดังต่อไปนี้

1.เรียนรู้

- รับรู้ รู้พื้นที่เสี่ยง พื้นที่ปลอดภัย และ เส้นทางหนีภัยสึนามิ

- เรียนรู้ศึกษาวิธีปฏิบัติตนหากเผชิญกับคลื่นสึนามิ 

- สนใจฟังเสียงสัญญาณเตือนภัยสึนามิ

- หมั่นสังเกตพฤติกรรมสัตว์ ที่เปลี่ยนไป เช่นปลาน้ำลึกมาเกยตื้น

2.เตรียมพร้อม

- จัดกระเป๋าให้พร้อม เตรียมของใช้เท่าที่จำเป็น

- เตรียมจุดอพยพให้พร้อม แจ้งจุดอพยพให้ทราบทั่วถึงเน้นรักษาชีวิตตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก

3.ซักซ้อม

- ร่วมฝึกซ้อมแผนอพยพหนีภัยสึนามิกับชุมชน

- สังเกตป้ายเตือนภัย สร้างความคุ้นเคยกับป้ายสัญญาณเตือนภัยสึนามิ 


ข้อมูลจาก  :  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

ภาพจาก  :    AFP 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง