รีเซต

ครูตัวเล็ก แต่หัวใจไม่เล็ก “ครูเชาว์” พ่อพิมพ์ของชาติผู้รักในการสอน

ครูตัวเล็ก แต่หัวใจไม่เล็ก “ครูเชาว์” พ่อพิมพ์ของชาติผู้รักในการสอน
TNN ช่อง16
16 มกราคม 2567 ( 18:28 )
69

ครูเชาว์ และครูปัท 2 ครูนอกระบบที่เป็นผู้ดูแลศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 และหัวหน้าศูนย์ดูแลเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนวัดดาวดึงษาราม ผู้ที่อยากสร้างโอกาสให้กับเด็กในชุมชน เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมาะสมกับเส้นทางที่เลือกเดิน 

เป็นเวลากว่า 16 ปีที่ครูเชาว์ เริ่มงานตรงส่วนนี้ ไม่เฉพาะที่ต้องดูแลเด็กๆ แต่ยังแบ่งเวลาเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้พิการ หรือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอีกด้วย โดยนอกจากจะช่วยดูแลเด็กๆซึ่งเป็นเด็กที่เริ่มโต ให้ได้รับโอกาสที่ดี เป็นทั้งที่ปรึกษา และบางทีก็ต้องสละเงินเดือนเพื่อช่วยเหลือให้เด็กๆบางคนที่มีปัญหาเรื่องการเงินไม่สามารถจ่ายค่าเทอม จนทำให้เด็กหลายคนเรียนจนจบปริญญา และไม่ลืมที่จะแวะเวียนมาหาครูเชาว์ ผู้ที่เคยอบรมสั่งสอน และช่วยผลักดันจนเค้าเรียนจบ  

นอกจากจะช่วยเหลือทั้งเรื่องการเลี้ยงดูและให้ความรู้แล้ว ครูเชาว์ยังช่วยแบ่งอาหารให้กับผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอีกด้วย หากมีผู้ประสงค์ในการนำอาหารมาบริจาค และมีการติดต่อเข้ามา ครูเชาว์จะทำหน้าที่คอยประสานงาน แจ้งข่าว และเดินนำข้าวหรืออาหาร ไปส่งให้กับบ้านที่มีผู้พิการอาศัยอยู่ในชุมชนอีกด้วย 

ทั้งนี้ ยังมีการทำธนาคารศูนย์บาท โดยมีแนวคิดจากการเก็บขยะมาแลกเป็นเงิน หรือของ โดยมีการตั้งกติกาว่า อยากให้เด็กๆหรือผู้ปกครองในชุมชน เก็บขวดพลาสติกมาแลกเป็นอุปกรณ์การเรียน ทั้งสมุด ปากกา ดินสอ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งนำมาแลกเป็นของใช้ เช่นน้ำยาล้างจาน หรือในบางครั้งก็มาแลกเป็นเงิน เพราะอยากปลูกฝังให้เด็กๆ ได้รู้สึกใส่ใจ และรับผิดชอบต่อสังคม และไม่เป็นการรอแต่ของบริจาคจากผู้ใจบุญอย่างเดียว

ซึ่งขวดน้ำที่นำมาแลก ในเดือนๆหนึ่งจะมีคนนำรถมารับซื้อถึงที่ และสามารถขายเป็นเงินได้กว่า 3 - 4 พันบาท (แล้วแต่ราคาพลาสติก) ส่วนฝาขวดน้ำก็จะไปบริจาคอีกต่อหนึ่งเพื่อมีการนำไปแปรรูปเป็นหลังคา ทั้งนี้ เงินที่ขายขวดพลาสติกได้ ครูเชาว์ก็มีการนำไปซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน หรือของใช้ภายในบ้านอีกทอดหนึ่ง 

ส่วนเด็กก่อนวัยเรียน ครูเชาว์ ได้ทำงานร่วมกับทางครูปัท หัวหน้าศูนย์ดูแลเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนวัดดาวดึงษาราม โดยที่ศูนย์จะรับดูแลเด็กเล็ก ซึ่งพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองไม่มีเวลาที่จะดูแลได้ เนื่องจากต้องออกไปทำงานทั้งคู่ หรือมีปัญหาแบบอื่น ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้า จะค่อยๆสอนให้เด็กๆ ร่วมร้องเพลงชาติ และสวดมนต์ ส่วนในช่วงสาย ก็จะเริ่มให้เด็กๆ เล่นของเล่นเสริมสมรรถภาพทางร่างกาย และทางสมอง ส่วนในมื้อกลางวัน ครูปัท ก็จะทำอาหารเอง โดยจะทำเผื่อเด็กที่อยู่ที่ศูนย์ดูแลสร้างโอกาสเด็กพระราม 8 ที่ครูเชาว์ดูแลอยู่ด้วย 

ครูปัท เปิดเผยว่า ตนเริ่มเป็นผู้ดูแลเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนวัดดาวดึงษาราม มาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงตอนนี้ก็กว่า 30 ปีแล้ว ใจจริงก็อยากจะออกไปสอบ และทำงานในเรื่องกฎหมายซึ่งตัวเองได้เรียนจบคือนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ถ้าตนไป แล้วใครจะดูแลเด็กๆในชุมชนเหล่านี้ และด้วยความเป็นห่วง จึงทำให้ตนเองยังคงเป็นผู้ดูแลศูนย์แห่งนี้เรื่อยมา 

หากถามว่า ศูนย์ดูแลเด็กทั้ง 2 ที่ยังมีอะไรที่ต้องการอีกหรือไม่ ครูเชาว์ เปิดเผยว่า ในส่วนดูแลเด็กเล็กก็มีเรื่องนมที่เด็กเล็กต้องกินอยู่เป็นประจำ ส่วนศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 ก็อยากได้เป็นอุปกรณ์การเรียนที่จะส่งต่อให้กับเด็กๆในชุมชนต่อไป

“เหนื่อยมั้ย ที่ต้องมาดูแลเด็กๆในชุมชนตลอดเวลา”


ครูเชาว์เปิดเผยว่า “เหนื่อย แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้าผมไม่ทำ ก็ไม่รู้ใครจะทำ ผมทำเพราะรู้ว่า เราเสียสละได้ ถ้าหากการเสียสละ มันจะสร้างโอกาสให้เด็กๆในชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้นในระดับที่ควรจะเป็น ผมก็จะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ” 


ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์






ข่าวที่เกี่ยวข้อง