"วิษณุ"ชี้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5แสนล.ไม่ผิดวินัยการคลัง "สุทิน"จี้เร่งบรรจุเข้าสภา ด้านวิปรบ.แจงรอถกหลังงบ 65
กรณีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพราะอาจขัดกับวินัยการเงินการคลัง และขัดรัฐธรรมนูญนั้น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงแล้วว่าเรื่องนี้ได้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นแล้ว และยังคิดไม่ออกว่าเกี่ยวข้องอะไรกับศาลปกครอง เพราะในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าจะดำเนินการร้องก็ต้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ ก็รู้ว่าทำไมกลุ่มผู้ร้องถึงได้ไปร้องต่อศาลปกครอง เพราะเนื่องจากไม่รู้ว่าจะมีการประกาศออกมาเมื่อไหร่ จึงได้ร้องให้มีการเพิกถอนมติของ ครม. ตอนนี้เรื่องมันเกินกว่ามติ ครม.แล้ว อย่างไรก็ตาม การยื่นเรื่องต่อศาลปกครองนั้นก็ไม่ได้ถือว่าผิด เพียงแต่ต้องการให้มีการเพิกถอน คือเมื่อเป็น พ.ร.ก.แล้วศาลปกครองเพิกถอนไม่ได้ แต่ถ้าเป็นมติ ครม.ศาลปกครองเพิกถอนได้ ผู้ร้องก็นึกว่าเป็นมติ ครม. แต่ความจริงเป็น พ.ร.ก.ไปแล้ว ที่สำคัญคือ กรณีที่บอกว่า ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ออกโดยไม่มีอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 นั้น รัฐบาลก็เช็กมาตั้งแต่ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว ที่ระบุว่า รัฐสามารถกู้เงินได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ มันก็เข้าหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก่อนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องเป็นไปตามคิว คือ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ก่อน เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่วันที่ส่งร่างให้สภา ที่ส่งไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 แม้ว่าสภาจะยังไม่เปิด ก็นับวันไปแล้ว ฉะนั้นถ้าประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ในวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2564 แค่นี้ก็เสียไปแล้ว 15 วัน จาก 105 วัน สภาก็จะเหลือเวลาการพิจารณาน้อย ถ้าไปเอาอะไรตัดหน้า หรือ ส.ส.บางคนกลัวโควิด-19 แล้วเสนอให้เลื่อนออกไป เวลาก็จะหายไป จึงอาจจะพิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ระบุว่า หากสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาให้ความเห็นชอบ และอนุมัติตามได้ทุกประการ แก้ไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้เสร็จ
ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดประชุมสมัยสามัญในวันที่ 27-28 พฤษภาคมนี้ ว่าจะมีการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับคือ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจะต่อด้วย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะ พ.ร.ก.ตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องเข้าก่อนญัตติอื่นๆ รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนจะพิจารณาได้เมื่อใดนั้น อยู่ที่การบริหารจัดการเวลาของวิปทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งวิปฝ่ายค้าน และวิปฝ่ายรัฐบาล หากพิจารณา พ.ร.ก. 2 ฉบับแรกเสร็จแล้วมีเวลาเหลือ ก็ต้องพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินต่อทันที หากไม่แล้วเสร็จ จึงจะค้างไว้ และนำไปพิจารณาต่อในภายหลัง ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเช้าของวันที่ 31 พฤษภาคม ก่อนการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2565 หรือจะพิจารณาตอนไหนต้องคุยกันอีกครั้ง
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ยังไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากหนังสือจากทำเนียบรัฐบาลยังส่งมาไม่ถึง และถึงแม้ว่าจะส่งมาถึงก็ต้องเว้นระยะห่างไว้อย่างน้อย 1 วัน ถึงจะนำเข้าได้ แต่ระเบียบวาระในการประชุมก็วางไว้ติดกัน คือในวันที่ 27-28 พฤษภาคม จะเป็นการพิจารณา พ.ร.ก. 2 ฉบับ ส่วนวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน จะเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ 2565 ทั้งนี้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน อาจเข้าที่ประชุมภายหลังสัปดาห์ที่พิจารณา พ.ร.บ.เสร็จแล้ว หรือเข้าในสัปดาห์ถัดไป