รีเซต

เปิดสาเหตุ! น้ำท่วมจีนปีนี้ ทำไมถึงหนักหน่วงเป็นประวัติการณ์

เปิดสาเหตุ! น้ำท่วมจีนปีนี้ ทำไมถึงหนักหน่วงเป็นประวัติการณ์
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2563 ( 19:39 )
2K

วันนี้ (15ก.ค.63) สื่อของทางการจีน รายงานว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีกำลังเพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่สาม และเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ของเมืองอู่ฮั่น ทำให้ประชาชนราว 11 ล้านคนต้องเผชิญกับภัยพิบัติอีกครั้งหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

ขณะที่มีแม่น้ำ 33 สายในจีนที่เพิ่มถึงระดับสูงสุดแล้ว และได้ประกาศเตือนภัยสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำอีก 433 สาย เช่นเดียวกับระดับน้ำในทะเลสาบโป๋หยาง ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่สุดของประเทศในมณฑลเจียงซี เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22.53 เมตร สูงกว่าระดับที่เคยบันทึกไว้ในปี 2541 ประมาณ 0.01 เมตร และยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจีนตอนนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายแล้ว 141 คน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนจีน 37.89 ล้านคน และทำลายบ้านเรือน 28,000 หลัง 

นายเจิ้ง กั๋วกวง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงจัดการเหตุฉุกเฉินของจีนแถลงเมื่อวันก่อนว่า ฝนตกหนักขึ้นในหลายพื้นที่ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน หลังจากตกหนักมากแบบผิดปกติมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไล่ไปตามพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีจากฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ในมณฑลเสฉวนและเทศบาลนครฉงชิ่ง ไปตอนกลางในมณฑลหูเป่ย จรดฝั่งตะวันออกในมณฑลอานฮุยและเจียงซี ทำให้ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2504 ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีมีแนวโน้มสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แม่น้ำแยงซีมีความยาวเป็นอันดับสามของโลก และยาวที่สุดในเอเชีย ไหลพาดผ่านจีนทั้งประเทศจากที่ราบสูงทิเบต ทางฝั่งตะวันตกไปลงทะเลจีนตะวันออกทางฝั่งตะวันออก ที่มีคนอาศัยอยู่ราว 400 ล้านคน ฝนฤดูร้อนและธารน้ำแข็งที่ละลายจากที่ราบสูงทิเบตทำให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ครั้งรุนแรงที่สุดเป็นเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2541 คร่าชีวิตคนไปมากกว่า 3,000 คน

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมาทางการจีนได้ลงทุนมหาศาลเพื่อควบคุมน้ำท่วมตามลุ่มแม่น้ำนี้เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี รวมถึงการสร้างเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างกั้นแม่น้ำแยงซี เพื่อหวังควบคุมปริมาณน้ำ ป้องกันน้ำท่วม เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนที่ผ่านมา เขื่อนแห่งนี้จะไม่ช่วยให้สถานการณ์อุทกภัยในประเทศจีนทุเลาลง 

ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนสามผา ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงได้ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณเดวิด แชงแมน นักภูมิศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแอละบามา สหรัฐฯ ซึ่งศึกษาการเกิดน้ำท่วมในประเทศจีน มองว่า แม้เขื่อนสามผาจะมีกลไกควบคุมปริมาณน้ำ แต่เขื่อนแห่งนี้ไม่สามารถป้องกันการเกิดน้ำท่วมในกรณีที่เป็นน้ำท่วมใหญ่ได้

ขณะที่นายเย่ เจียนชุน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำให้ข้อมูลว่า มีการกักเก็บน้ำราว 64,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ 2,297 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นน้ำที่ถูกกักเก็บในเขื่อนสามผาประมาณ 2,900 ลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกับผู้ดูแลเขื่อนสามผาที่ยืนยันว่า เขื่อนดังกล่าวมีบทบาทช่วยลดความเร็วของน้ำ รวมไปถึงช่วยกระจายปริมาณน้ำในพื้นที่ทางตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี

อย่างไรก็ตาม ดร.ฟ่าน เชียว นักธรณีวิทยาชาวจีน ซึ่งเป็นนักวิชาการอีกคนที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ชี้ว่า ประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำที่แท้จริงของเขื่อนสามผา มีไม่ถึง 9% ของปริมาณน้ำท่วมเฉลี่ย โดยเขื่อนดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยเพียงแค่การชะลอน้ำจากพื้นที่ตอนบน แต่ไม่สามารถช่วยลดการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำแยงซี ผลจากฝนที่ตกอย่างหนัก

ดร.ฟ่าน ยังชี้ว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้น เช่นกรณีของเขื่อนสามผาที่สร้างกั้นแม่น้ำแยงซี ส่งผลโดยตรงต่อการไหลของตะกอนตามธรรมชาติลงไปยังแม่น้ำแยงซีตอนล่าง ขณะเดียวกันเป้าหมายของเขื่อนสามผาที่มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้สุดท้ายแล้วเขื่อนก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้ามากกว่ากักเก็บน้ำป้องกันการเกิดน้ำท่วม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทางการจีนเพิ่มระดับการเตือนภัย ส่งสัญญาณอาจเกิดภัยพิบัติ

น้ำท่วมจีนดับเพิ่มเป็น 106 เดือดร้อน 15 ล้านคน

จีนอ่วม! ฝนถล่มไม่หยุดทำน้ำท่วม ปชช.สูญหายเกือบ 40 คน

จีนฝนตกหนัก! หลายพื้นที่น้ำท่วม กระทบประชาชน11ล้านคน


เกาะติดข่าวที่นี่ 
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand 
facebook live : TNN Live 
twitter : @TNNThailand 
Line : @TNNONLINE 
Youtube Official : TNNThailand 
Instagram : @tnn_online 
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง