นายกฯมั่นใจไทยเจรจาทรัมป์ ไม่หลุดกรอบ 90 วัน ยันแจกเงินหมื่น เฟส 3 ยังไม่ยกเลิก

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2568) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ผ่านการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) วงเงิน 10,000 บาท เฟส 3 ให้กับเด็กไทย อายุตั้งแต่ 16-20 ปี ประมาณ 2.7 ล้านคน ว่า ในการประชุมครม.วันนี้ ยังไม่ได้หารือถึงโครงการดังกล่าว เพราะต้องขอเวียนความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อสรุปก่อน
ตอนนี้ยังเวียนความคิดเห็นอยู่ และต้องดูเรื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีความคิดเห็นเข้ามา รัฐบาลก็ต้องรับฟัง โดยความตั้งใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการนี้ เชื่อว่ามีเป้าหมายสำคัญคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีปัจจัยแทรกเข้ามาต้องดูก่อนว่าจะเป็นอย่างไร” นายกฯ ระบุ
ส่วนการทบทวนโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตในเฟสต่อ ๆ ไป รัฐบาลจะทบทวนหรือไม่
นายกฯ ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่จะขอรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนว่าเป็นอย่างไรว่าความจำเป็นมีมากน้อยแค่ไหนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเงินที่เหลืออยู่ 1.5 แสนล้านบาท จะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า นายกฯ ยังยืนยันที่จะดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต่อไปหรือไม่ นายกฯ ยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงแต่ขอรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆอีกครั้ง
เมื่อถามว่าหากไม่ดำเนินการโครงการนี้ต่อจะกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะต้องปรับความเข้าใจ เพราะเป็นปัจจัยที่เข้ามา โดยไม่ได้คาดฝัน และเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย จึงต้องฟังเหตุและผลด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือไม่เปลี่ยนแปลง ต้องมีคำอธิบายจากรัฐบาลอยู่แล้ว
ส่วนความคืบหน้าเรื่องภาษีศุลกากรระหว่างไทยและสหรัฐ เพื่อเจรจาต่อรองภาษีนำเข้า 36 % เรื่องนี้จะมีผลเมื่อใดนั้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรายังมีกรอบเวลา 90 วันซึ่งเราไม่หลุดกรอบนี้อย่างแน่นอน แต่ในการดีลลับต่างๆ เราทำอย่างต่อเนื่อง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รอดูอยู่ และมีการอัพเดทข้อมูลกันอยู่เรื่อย ๆ
ทั้งนี้ถามว่ามีความกังวลหรือไม่ว่าการดีลลับ จะทำให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันก็มีส่วนที่เปิดเผยได้ และยังไม่เปิดเผย มันไม่มีที่จะเป็นความลับทั้งหมด เราต้องดูระยะเวลา ว่าควรจะปล่อยหัวข้อต่างๆในช่วงไหน เราต้องบอกและอธิบายสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ไม่ใช่ถึงเวลาจะบอกเลยหรือปิดทั้งหมด มันทำไม่ได้อยู่แล้ว
ส่วนปัจจัยใดที่ทำให้สหรัฐฯ ยังไม่ให้ไทยเข้าไปเจรจา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุด ได้คุยกับทีมงานของทางสหรัฐฯ และเราก็เอาสิ่งนั้นมาเพิ่มเติม ซึ่งได้คุยกันแล้วก็น่าจะครอบคลุมในสิ่งที่ประเทศไทยจะคุยกับสหรัฐฯ และมีกรอบให้ 90 วัน ถ้าเราดูสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ เช่นกัน และเราก็ได้มีการนำมาปรับแผน
นายกฯสั่งเร่งหารือมาตรการรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า น.ส.แพทองธาร ได้สั่งการเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากสงครามการค้าและการประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ส่งผลให้ธนาคารโลก (World bank) และสถาบันต่าง ๆ คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะตกต่ำลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจประเทศไทย จะต่ำกว่าที่ได้เคยคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ รายได้ของประชาชนในภาพรวมจะลดลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทยที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลในการจัดเก็บภาษีอันเป็นรายได้ของประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็คงจะเก็บได้ต่ำกว่าเป้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น แผนการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะที่ต้องอาศัยงบประมาณก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการทบทวน ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสอดคล้องกับรายได้ของประเทศที่ลดลง
นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในประเด็นนี้ว่า ได้มอบหมายให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง รับเรื่องนี้ไปหารือในคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจและนำมาเสนอต่อครม. โดยเร็ว และขอเน้นย้ำกับคณะรัฐมนตรี ทุกท่านว่า ท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส และขอให้ประชาชนและพวกเราทุกคนมีกำลังใจที่จะร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน โดยอาศัยความสามัคคีของทุกคนในประเทศ โดยมีคณะรัฐมนตรี และข้าราชการทุกคนเป็นแกนนำร่วมกันระดมความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐภาคเอกชน และประชาชน เพื่อช่วยกันฟันฝ่าและนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้
ส่วนการนำเสนอวาระต่อครม.ของแต่ละกระทรวง ขอความร่วมมือให้มีการสอบถามความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ก่อนที่จะนำเสนอต่อครม.ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งพบว่า ในช่วง 15 วัน มีวาระจรเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาระที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ
ดังนั้นขอให้ทุกกระทรวงวางแผนเรื่องเวลาในการส่งเรื่องมา เพื่อจะได้นำเข้าในวาระปกติ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นวาระจรโดยไม่จำเป็น เพราะจะเกิดความไม่รอบคอบ และขาดการรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วนจากทุกหน่วยงาน