รีเซต

LGBT: หญิงข้ามเพศชาวมาเลเซียเผยต้องลี้ภัยเพราะเลือกเกิดไม่ได้

LGBT: หญิงข้ามเพศชาวมาเลเซียเผยต้องลี้ภัยเพราะเลือกเกิดไม่ได้
ข่าวสด
20 พฤศจิกายน 2564 ( 16:38 )
189
LGBT: หญิงข้ามเพศชาวมาเลเซียเผยต้องลี้ภัยเพราะเลือกเกิดไม่ได้

เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวรั่วออกมาว่า หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยได้จับกุมตัว นูร์ ซาญัต คามารุสซามัน หญิงข้ามเพศเจ้าของธุรกิจเครื่องสำอางชาวมาเลเซียวัย 36 ปี ที่มีผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียจำนวนมาก

 

ทางการมาเลเซียได้ติดต่อขอให้ไทยส่งตัวเธอกลับไปดำเนินคดีในมาเลเซียในความผิดฐาน "หมิ่นศาสนา" ซึ่งเธอถูกตั้งข้อหาเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และมีโทษสูงสุดคือการจำคุก 3 ปี

 

ความผิดของ นูร์ ซาญัต คือการสวมชุดบาจูกุรุง ซึ่งเป็นชุดประจำชาติแขนยาวของผู้หญิงเชื้อสายมาเลย์ ในพิธีทางศาสนาที่เธอจัดขึ้นเป็นการส่วนตัวในปี 2018

 

ในสายตาของทางการมาเลเซีย นูร์ ซาญัต เป็นผู้ชาย และภายใต้กฎหมายอิสลาม ผู้ชายไม่สามารถแต่งกายในชุดของผู้หญิงได้

Nur Sajat

ปัญหาดังกล่าวทำให้ นูร์ ซาญัต ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย และได้รับอนุญาตจากทางการไทยให้เดินทางไปลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย

 

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ของบีบีซี ได้พูดคุยกับสตรีข้ามเพศผู้นี้จากนครซิดนีย์ ของออสเตรเลีย ซึ่งเธอระบุว่า เธอไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากหลบหนีออกนอกประเทศ หลังจากถูกทำร้ายจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่ JAIS ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านกิจการอิสลามในรัฐสลังงอร์ และเป็นผู้ตั้งข้อหาหมิ่นศาสนาต่อเธอ

 

"ฉันต้องหนี ฉันถูกปฏิบัติอย่างหยาบคาย ฉันถูกทุบตี ถูกจับใส่กุญแจมือ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นต่อหน้าพ่อแม่และครอบครัวของฉัน ฉันรู้สึกอับอาย และเศร้าใจ ฉันให้ความร่วมมือกับพวกเขา แต่พวกเขายังคงทำกับฉันแบบนี้" นูร์ ซาญัต เล่าให้บีบีซีฟัง

 

"บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขามองว่าฉันเป็นผู้หญิงข้ามเพศ พวกเขาเลยไม่สนใจว่าฉันจะถูกจับ ถูกทุบตี และถูกเหยียบย่ำ หญิงข้ามเพศอย่างพวกเราก็มีความรู้สึกเช่นกัน เราสมควรได้มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป"

"ความสับสนทางเพศ"

นูร์ ซาญัต เป็นนักธุรกิจที่สร้างตัวเองจนประสบความสำเร็จ เธอเล่าว่า เมื่อ 7 ปีก่อน ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ตัวเองทางโซเชียลมีเดีย เธอได้พัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ขณะที่ธุรกิจขายเสื้อรัดทรงสตรีของเธอก็ประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย

 

โพสต์ทางโซเชียลมีเดียที่นำเสนอภาพลักษณ์อันงดงามไร้ที่ติ และท่าทางขี้เล่นของนูร์ ซาญัต ทำให้เธอมีผู้ติดตามหลายแสนคน และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วมาเลเซีย แต่หลังจากนั้นก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศของเธอ

 

นูร์ ซาญัต ไม่เคยปิดบังเรื่องนี้ เธอเคยเข้าประกวดนางงามสาวประเภทสองที่โด่งดังของไทยในปี 2013 และได้รับรางวัลจากการแสดงความสามารถด้านการเต้น

 

แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนในมาเลเซียคือการที่เธอแสดงตัวว่าเป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัด และโพสต์ภาพตัวเองสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า "ฮิญาบ" แบบสตรีมุสลิม

 

นูร์ ซาญัต อธิบายให้ผู้ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศของเธอว่า เธอเกิดมาโดยมีภาวะเพศกำกวม คือมีทั้งอวัยวะเพศชาย และเพศหญิง ซึ่งเป็นภาวะที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับได้มากกว่าผู้ที่เปลี่ยนเพศกำเนิดของตัวเอง

 

ในปี 2017 นูร์ ซาญัต ประกาศว่า เธอได้เป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ทางกายภาพแล้ว พร้อมกับโพสต์รายงานจากแพทย์เพื่อยืนยันคำกล่าวนี้

 

หลังจากนั้น ทางการมาเลเซียได้ตัดสินใจสืบสวนเรื่องนี้ โดย JAKIM ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนาอิสลามของมาเลเซีย ระบุว่า ต้องการหลักฐานยืนยันว่า นูร์ ซาญัต เกิดมาโดยมีภาวะเพศกำกวม พร้อมเสนอให้ความช่วยเหลือเธอกับปัญหาที่พวกเขาเรียกว่า "ความสับสนทางเพศ"

Nur Sajat

นักธุรกิจหญิงข้ามเพศคนนี้ตกเป็นประเด็นอื้อฉาวอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว หลังมีการเปิดเผยภาพที่เธอแต่งกายด้วยชุดผู้หญิงไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่เมืองเมกกะ ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากชาวมุสลิมอนุรักษนิยม

 

เธอได้กล่าวขอโทษในเวลาต่อมาที่สร้างความไม่พอใจจากเรื่องดังกล่าว และภายในเวลา 1 ปี เธอก็ถูกตั้งข้อหาในความผิดอาญา

 

"ตอนที่ฉันอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ฉันได้แต่ถามตัวเอง...ว่าบางทีอาจจะมีเหตุผลที่ฉันเกิดมาเป็นแบบนี้" นูร์ ซาญัต กล่าว "ในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ และชาวมุสลิม ฉันเชื่อว่าฉันมีสิทธิ์ในการแสดงออกทางศาสนาในแบบของตัวเอง ไม่มีเหตุผลเลยที่พวกเขาจะ

ลงโทษฉันราวกับพวกเขากำลังทำหน้าที่ของพระเจ้า"

กล่าวถึงกรณีนี้ว่า "หากเขา [นูร์ ซาญัต] เข้ามาหาเรา แล้วยอมรับว่าทำผิด ถ้าเขายอมกลับไปเป็นผู้ชายแบบเดิม ก็จะไม่มีปัญหาใด ๆ เราไม่อยากลงโทษเขา เราแค่อยากให้ความรู้แก่เขา"

บีบีซีได้สอบถามไปยัง โมฮัมหมัด อัสรี ไซนูล อาบีดิน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านอิสลามของรัฐปะลิส ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ชาวมุสลิมมาเลเซียจะยอมรับบุคคลข้ามเพศ

เขาแสดงความเห็นว่า กรณีของ นูร์ ซาญัต ไม่ใช่การทำผิดแค่กรณีเดียว "ซาญัต ทำหลายอย่างที่ยั่วยุให้หน่วยงานทางศาสนาต้องดำเนินการ ตามปกติในศาสนาอิสลาม เราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคุณกับพระเจ้า แต่เราจะไม่มีวันยอมรับบาปนี้ ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง และอยากจะเข้าห้องน้ำผู้หญิง คุณไม่สามารถทำอย่างนั้นได้"

มาเลเซียมีระบบกฎหมายคู่ขนาน ซึ่งใช้กฎหมายอิสลาม หรือ "ชารีอะห์" ใน 13 รัฐ และ 3 ดินแดนสหพันธ์ของประเทศ เป็นเครื่องมือกำกับเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับครอบครัวและศีลธรรมของประชากร 60% ที่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งนี่ได้สร้างปัญหาอย่างต่อเนื่องให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

นิชา อายับ นักรณรงค์เพื่อสิทธิบุคคลข้ามเพศ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกคุมขังฐานสวมเสื้อผ้าสตรี ระบุว่า "กฎหมายชารีอะห์มุ่งเป้าเป็นพิเศษต่อกลุ่มพวกเราในทุกรัฐ"

"เพราะการมีอยู่ของกฎหมายชารีอะห์ เราจึงมีนักการเมือง ผู้นำ และหน่วยงานทางศาสนาที่ป่าวประกาศข้อความเชิงลบอย่างมากเกี่ยวกับกลุ่มของพวกเรา และนี่ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเรา"

 

มุ่งสู่การเป็นสังคมอิสลาม

อย่างไรก็ตาม โรซานา ไอซา ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Sisters in Islam ที่ทำงานด้านสิทธิสตรีในศาสนาอิสลาม ซึ่งให้การสนับสนุน นูร์ ซาญัต ระบุว่า "ครั้งหนึ่งมาเลเซียเคยผ่อนปรน และยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ"

"คุณเห็นพวกเขาอยู่รวมกันอย่างเปิดเผยกับครอบครัวของพวกเรา ในชุมชนของเรา และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม แต่ช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้เริ่มใช้นโยบายที่มุ่งสู่การเป็นสังคมอิสลาม คุณจึงได้เห็นกฎหมายหลายฉบับขึ้น และมีการตีความหลักการอิสลามเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความคับแคบลงในแง่ของการยอมรับในความหลากหลาย"

G

แม้อิสลามจะไม่ใช่ศาสนาอย่างเป็นทางการศาสนาเดียวของมาเลเซีย แต่ก็ถูกนิยามให้เป็นลักษณะสำคัญของการเป็นชาวมาเลย์ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ

 

การส่งเสริมแนวคิดอนุรักษ์นิยมในศาสนาอิสลามจึงถือเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองทั้งหลายใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อให้ได้คะแนนสนับสนุนจากคนในประเทศ และดูเหมือนว่าการจัดการ นูร์ ซาญัต จะเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมาเลเซียที่อ่อนแอ กำลังต้องการเสียงสนับสนุนจากชาวมุสลิมมากกว่าความเป็นห่วงในศาสนาอย่างแท้จริง

 

แต่ นิชา อายับ นักต่อสู้เพื่อสิทธิบุคคลข้ามเพศชี้ว่า รัฐบาลยังคงมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะรับประกันว่าสิทธิของบุคคลข้ามเพศจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าจะมีมุมมองที่แตกต่างทางศาสนาอิสลามก็ตาม เธอระบุว่า ปัจจุบันประเทศอิสลามอื่น ๆ เช่น ปากีสถาน และอิหร่านได้แก้ไขกฎหมายเพื่อรับรองเรื่องนี้

 

นูร์ ซาญัต คิดถึงลูกชายและลูกสาวบุญธรรมของเธอ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวเธอในมาเลเซีย แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็มีกำลังใจจากโอกาสในการแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองให้แก้บุคคลข้ามเพศคนอื่น ๆ ในออสเตรเลีย

.....................

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง