รีเซต

ดีเดย์! แบงก์ชาติ-สมาคมแบงก์ คลอดมาตรการช่วยลูกหนี้เพิ่มเติม เสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้

ดีเดย์! แบงก์ชาติ-สมาคมแบงก์ คลอดมาตรการช่วยลูกหนี้เพิ่มเติม เสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้
มติชน
3 กันยายน 2564 ( 13:34 )
65
ดีเดย์! แบงก์ชาติ-สมาคมแบงก์ คลอดมาตรการช่วยลูกหนี้เพิ่มเติม เสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย โดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท.ได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 สนับสนุนการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้นในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับภาวะการระบาด โดยมาตรการเพิ่มเติมดังกล่าวประกอบด้วยการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564

 

 

นายรณดลกล่าวว่า สำหรับ มาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูซึ่งปัจจุบันเหลืออีก 150,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพิ่ม ทั้งขยายวงเงินสินเชื่อลูกค้าใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกค้าเก่าเดิมจะได้รับไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิม เป็นได้รับสินเชื่อไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือรับสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท

 

 

“อีกทั้งยังเพิ่มการค้ำประกันและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท.ได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564 ส่วนความคืบหน้าสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 98,316 ล้านบาท จำนวน 32,025 ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้เข้ามา 82 ราย วงเงิน 11,696.79 ล้านบาท

 

 

“นอกจากนี้ยังช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่า จากเดิม 1.5 เท่า และไม่จำกัดสถาบันการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งคงผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ไปจนถึงสิ้นปี 2565 ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาทจากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมขยายเวลาชำระคืนจาก 6 เดือนเป็น 12 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 จนถึงสิ้นปี 2565” นายรณดลกล่าว

 

 

 

 

นายรณดลกล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการแก้ไขหนี้เดิม และเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอีและรายย่อย ถูกปรับให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ เพื่อช่วยลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบหนักให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมของทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิผล โดยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจริงก็ควรได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย ทั้งนี้ ธปท. จะร่วมกับสมาคมธนาคารไทยในการเร่งรัดและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

 

 

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีตามมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. โดยสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (Product program) ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของลูกหนี้ และติดตามดูแลช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธนาคารยังเป็นกลไกสำคัญและมีกำลังไปช่วยลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป

 

 

นายผยงระบุว่า ธนาคารได้รีบเตรียมความพร้อมภายในรวมถึงสื่อสารพนักงานสาขา ซึ่งทางลูกหนี้สามารถติดต่อธนาคารเพื่อเริ่มเตรียมการเบื้องต้นก่อน ขณะนี้ทั้งแผนการจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ค่อยๆ ดีขึ้น แม้กระทั่งการส่งออกที่ได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลก ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปนี้ หวังว่าการแก้ปัญหาและช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะทำให้ลูกหนี้กลับมายืนและทำธุรกิจได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง