รีเซต

อาคม ฝาก ก.ล.ต.ดูแลความเสี่ยง 'บิทคอยน์' แจงนักลงทุนรัฐยึด 3 ภูมิคุ้มกันเป็นวัคซีนศก.

อาคม ฝาก ก.ล.ต.ดูแลความเสี่ยง 'บิทคอยน์' แจงนักลงทุนรัฐยึด 3 ภูมิคุ้มกันเป็นวัคซีนศก.
มติชน
11 กุมภาพันธ์ 2564 ( 12:56 )
67

ที่โรงแรม ดิแอทธินี โฮเทล แบงค็อก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “บทบาทตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปี 2564” ในงานสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2564 (SEC 2021 Strengthening Resilient Future) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนให้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกในการส่งเสริมการระดมทุน ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน

 

นายอาคม กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝาก ก.ล.ต. มี 5 ด้าน คือ 1.บิทคอยน์ (สินทรัพย์ดิจิทัล) ซึ่งปัจจุบันเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาอยู่ในตลาด ดังนั้น จะต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการบริหารความเสี่ยง ความรู้กับนักลงทุน หรือผู้ออมที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่แสวงหาผลตอบแทนที่สูง เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจกระทบกับตลาดทุนได้

 

“บิทคอยน์ เป็นเรื่องใหม่ต้องดูแลให้ดี เพราะวันนี้ มันมีผู้ที่มีเงินน้อย มีความเสี่ยงต่ำ แต่บังเอิญอยากได้ผลตอบแทนสูง ก็มีความเสี่ยงมาก ดังนั้นจะต้องให้ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยงกับผู้มีเงินออมและเข้ามาอยู่ในตลาดตรงนี้ ต้องให้มีความรู้เท่าทัน ไม่เสี่ยงไป”นายอาคม กล่าว

 

ด้านที่ 2. คือ ก.ล.ต. จะต้องเข้าไปดูแล หรือการอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ด้าน3 คือ การให้บริษัทใหม่ๆเข้าถึงตลาดทุนได้ ด้าน4คือ การยกระดับความเชื่อมั่นเสริมศักยภาพตลาดทุน โดยเน้นการวางรากฐานระดับกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อให้ตลาดมีความมั่นคง และด้าน 5 คือการพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จะไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปี 2564 เริ่มเห็นสัญญาณของวัคซีนที่จะทยอยเข้ามาต่อเนื่อง โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึง และทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนแน่นอน

 

“เราเห็นความหวังว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นน้อยลงจากปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดค่อนข้างรุนแรง ตัวเลขการติดชื้อมากกว่าปีที่แล้ว เห็นหลักร้อยรายต่อวันในปีนี้ แต่ตัวเลขล่าสุดเริ่มลดลง สะท้อนว่าการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ”นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม กล่าวว่า นอกจากภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ ไทยยังมีภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจ 3 ตัว ประกอบด้วย 1.วัคซีนในประเทศ คือ การที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวได้อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง ทุนสำรองระหว่างประเทศแบะ ฐานะการคลังมั่นคง รวมทั้งสามารถบริหารจัดการหนี้ของประเทศได้

 

2.วัคซีนภาคการผลิตและบริการ โดยภาคเอกชนต้องมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง มีธรรมาภิบาล รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ และ 3.วัคซีนภาคระดับประชาชน โดยการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบผ่านโครงการต่างๆ พร้อมกับการสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักการออม เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในอนาคต ซึ่งทั้ง 3 วัคซีน มองว่าจะช่วยสร้างให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง มีเสถียรภาพและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

“เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าโรคระบาดจะมีอีกเมื่อไหร่ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการเตรียมความพร้อมซึ่งการทำธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ด้านรัฐบาลที่ผ่านมาได้เยียวยา ฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็เป็นแค่ช่วงระยะสั้นเท่านั้น ไม่มีที่ไหนหรือประเทศไหนจะเยียวยาแบบนี้ไปได้ตลอด” นายอาคม กล่าว

 

สิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูในช่วงที่มีวิกฤติโควิด-19 คือ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ต้องสอดประสานกัน เพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังสามารถขับเคลื่อนไปได้ มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

 

ขณะเดียวกันอนาคตของไทยจะไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน หรือ BCG โดยการลงทุนหลังจากนี้ จะไปสู่ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้จาก มาตรการต่างๆของภาครัฐ เน้นไปสู่สังคมไร้เงินสด ทั้งโครงการเราไม่ทิ้งกัน ชิมชอปใช้ คนละครึ่ง เราชนะ ทุกอย่างใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นหลัก

 

นอกจากนี้ การลงทุนรัฐบาล จะเน้นการลงทุนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น green energy โดยเฉพาะการมุ่งไปสู่รถอีวีในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างหามาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ในขณะที่ด้านภาษีนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษีรอบ 2 รวมถึงการหามาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง