สธ.ชี้ 4เหยื่อโควิด-19 รอบใหม่ มีโรคประจำตัวเสี่ยงตายสูง รัฐบาลจัดงบรับมืออีก 2 พันล้าน
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย และภาพรวมของทรัพยากรทางการแพทย์เพื่อรับมือกับโควิด-19
นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีมีผู้เสียชีวิตจากการระบาดระลอกใหม่ 4 ราย รายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 45 ปี ที่รักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) ระยอง ปัจจัยเสี่ยงเป็นเบาหวาน หัวใจขาดเลือด พบประวัติเสี่ยงเป็นคนโบกรถที่บ่อนพนัน รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 70 ปี ติดเชื้อจากประเทศเมียนมา เสียชีวิตที่ รพ.แม่สอด มีโรคหลอดเลือดสมอง รักษาโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว แต่มีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิต รายที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 44 ปี เสียชีวิตที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ไม่มีโรคประจำตัว พบประวัติเสี่ยงไปสถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร รายนี้มีอาการมากแล้วจึงมา รพ. และ รายที่ 4 เป็นหญิง อายุ 47 ปี เสียชีวิตก่อนถึง รพ.มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน พบประวัติเสี่ยงเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อจากบ่อนพนัน
นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ท่านที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยง ผู้สูงอายุ โรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมองหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ กลุ่มนี้เวลาติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงหากสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ และเมื่อมีอาการขอให้พบแพทย์ทันที การไป รพ.ช้า เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้
“กทม.พบผู้ติดเชื้อหลายเขตที่มีการติดต่อสมุทรสาครและนครปฐม ซึ่งขณะนี้มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด เป็นพื้นที่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เราพบผู้ติดเชื้อในคนไทยและสมาชิกในครอบครัว การระบาดในคนไทยเหมือนภูเขาน้ำแข็งมีพบประปราย สถานการณ์จึงมีการติดเชื้อเพิ่ม และคาดว่าจะมีการระบาดอย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรุนแรงและรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมผู้ติดเชื้อ หลังจากเรามีปัญหาแรงงานต่างด้าว บ่อนพนัน สถานบันเทิง จนกระจายไป 53 จังหวัด และสิ่งสำคัญยังมีการระบาดครั้งใหม่ที่น่าจับตามอง คือ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะมีผู้ป่วยหนัก จึงต้องมีมาตรการเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ” นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องทรัพยากรในประเทศอย่างเพียงพอ เนื่องจากได้สะสมไว้ตั้งแต่เริ่มระบาด ได้ซื้อเก็บไว้ เป็นทรัพยากรคงคลังของประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนภูมิภาคในแต่ละจังหวัด และ รพ.ต่างๆ และส่วนกลางเก็บไว้ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ สธ. เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในภาวะขาดแคลนหรือมีความจำเป็นต้องใช้ ปัจจุบันมีหน้ากากชนิด N95 ในส่วนภูมิภาคกว่า 6 แสนชิ้น และในคงคลังอีกกว่า 2 ล้านชิ้น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ส่วนภูมิภาค 44 ล้านชิ้น และที่คลังอีก 1.4 แสนชิ้น ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ส่วนภูมิภาค 8 แสนชุด และที่คลัง 1 ล้านชุด ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ส่วนภูมิภาค 6 หมื่นเม็ด และที่คลังประมาณ 4 แสนเม็ด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการระบาดสูง จึงมีความเพียงพออย่างแน่นอน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่า หากประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยัน 34,200 ราย และผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคอีก 912,500 ราย จะต้องการทรัพยากรเป็นหน้ากากชนิด N95 จำนวน 6 ล้านชิ้น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 60 ล้านชิ้น ชุดป้องกันส่วนบุคคล 6 ล้านชิ้น และยาฟาวิพิราเวียร์ 7 แสนเม็ด แต่ปัจจุบันเรามีอยู่เพียง 5 แสนเม็ด ขณะที่รัฐบาลโดยความเห็นชอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบเงินกู้ จัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 1.9 พันล้านบาท ซึ่ง สธ.จะให้ อภ.เป็นผู้สั่งซื้อล่วงหน้า โดยแบ่งเป็นหน้ากากชนิด N95 จำนวน 5 แสนชิ้น ชุดป้องกันส่วนบุคคล ( PPE) 1.2 ล้านชุด หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 3.6 แสนชิ้น ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.2 แสนเม็ด โดยจะสำรองจำนวนหนึ่งไว้ที่ อภ.ทันที ส่วนเตียงในประเทศมีรองรับเกือบ 2 หมื่นเตียง ซึ่งในขณะนี้ใช้ไปเพียงกว่าพันเตียง และมีเครื่องช่วยหายใจอีกจำนวนมาก