รีเซต

เสี่ยง“ชีวิต แลก รายได้” แรงงานไทยใน “อิสราเอล” ยอมเพื่ออนาคต

เสี่ยง“ชีวิต แลก รายได้” แรงงานไทยใน “อิสราเอล” ยอมเพื่ออนาคต
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2566 ( 18:46 )
73
เสี่ยง“ชีวิต แลก รายได้” แรงงานไทยใน “อิสราเอล” ยอมเพื่ออนาคต

“...ต้องการมาสร้างชีวิตใหม่ รู้ว่าอันตรายแต่เตรียมใจ-เผื่อใจไว้แล้วหากเกิดอะไรขึ้นก็ยอมรับจะไม่โทษใครเพราะตัดสินใจเอง...อยู่ต่อเพื่อคนข้างหลัง หากเป็นอะไรไปคนข้างหลังจะได้สบาย…”



          หนึ่งในเหตุผลที่แรงงานในไทยอิสราเอล ฝากบอกขอบคุณรัฐบาลที่ส่งเครื่องบินมารับเพื่อช่วยอพยพแต่ได้พูดคุยกับแรงงานหลายคนยังยืนยันสู้ต่อ เพราะภาระหนี้สิน,เพราะประเมินสถานการณ์และเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย อีกส่วนยังได้รับแรงจูงใจจากนายจ้างเพิ่มค่าแรงรายวัน และเบี้ยเสี่ยงภัยนาน 3 เดือน เฉลี่ยแล้วมีรายรับที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนเกือบ  80,000บาท (กรณีทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชม.) ยังห่วง “เงินปิซูอิม” เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง หรือ กรณีทำงานครบสัญญา  และหลายคนยิ่งกังวลหนักว่าหากกลับแล้วจะไม่ได้กลับไปทำงานที่อิสราอีก ซึ่งก็หมายถึงรายได้ที่คาดหวังไว้จะสูญหายไป...  


ส่วนแรงงานที่ตัดสินใจเดินทางกลับก่อนหน้านี้ มีทั้งที่บอกว่าอยากให้สถานการณ์สงบโดยเร็วจะได้ไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้ง  บางคนบอกว่ายังหวาดกลัวกับสถานการณ์ที่ได้พบเจอขณะนั้น จึงเลือกทำงานที่ประเทศไทยแทน   



          แรงงานไทยตามโครงการ TIC  ตามสัญญาก่อนหน้านี้กำหนดไว้ว่าสามารถไปทำงานได้เพียง 1 ครั้งในอิสราเอล รวมระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน  โดยสามารถกลับไปทำงานที่อิสราเอลได้อีกหากยังไม่ครบกำหนดสัญญา  ล่าสุดสำนักงานประชากรและคนเข้าเมืองอิสราเอล (PIBA) ออกเงื่อนไขรับ 2 กลุ่มกลับทำงานแม้ว่าจะทำงานครบสัญญา 5 ปี 3 เดือน หรือเดินทางกลับก่อนหน้าเกิดสงคราม   ส่วนกลุ่มแรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอลโดยไม่มีวีซ่า และยังไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน จะต่อวีซ่าให้  โดยจะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง การปรับเงื่อนไขดังกล่าวก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่า “อิสราเอล” ให้ความสำคัญกับแรงงานไทยเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการเกษตร 



          ปีนี้ไทยได้รับโควตาส่งออกแรงงานมากที่สุดในรอบ 11 ปีเพิ่มจาก 5,000 คนเป็น 6,500 คน     แรงงานไทยที่จัดส่งไปอิสราเอลมี 4 รูปแบบ ภาคเกษตรกรรมมากที่สุดกว่าร้อยละ 80  มากถึง 20,000 คน ,ภาคบริการร้านอาหาร-ภัตตาคาร ,ภาคดูแลคนชรา-คนพิการ และภาคก่อสร้าง แรงงานส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี มากถึง 4,000 คน  รองลงมาเป็นเชียงราย นครราชสีมา นครพนม หนองบัวลำภู สกลนคร บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคาย และน่าน



          การจัดส่งแรงงาน TIC ปีนี้ซึ่งเป็นรุ่นที่ 17 ต้องชะลอการส่งแรงงานออกไปเพราะสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่ 7 ต.ค.  ขณะที่รัฐบาลไทยวางแผนเร่งอพยพเที่ยวบินแรกถึงไทยเมื่อ  12 ต.ค. พร้อมปรับเปลี่ยนแผนอพยพทั้งใช้เครื่องบินกองทัพอากาศ เครื่องบินเช่าเหมาลำ   เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว "โรงแรมเดวิด อินเตอร์ คอนติเนนทัล เทลอาวีฟ  (David InterContinental Tel Aviv) ตั้งแต่ 15 ต.ค. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและออกประกาศเตือนให้รับทราบถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  


          

          แรงงานชุดสุดท้ายที่กลับถึงไทยในระยะแรกตั้งแต่ 3 พ.ย. รวมการอพยพทั้งหมด 54 เที่ยวบิน ทั้งกรณีการช่วยเหลือของรัฐบาล และซื้อตั๋วเครื่องบินกลับเอง(สามารถเบิกคืนได้)  รวมเกือบ 9,000 คน ส่วนอีกกว่า 20,000 คนที่ยังอยู่ในอิสราเอล  รัฐบาลยืนยันจะไม่ทอดทิ้ง ต่อจากนี้จะพิจารณาตามสถานการณ์และจำนวนผู้ประสงค์กลับในแต่ละครั้ง   รวมทั้งเร่งประสานเจราจาปล่อยตัวประกันคนไทย 24 คนซึ่งยืนยันจากภาพถ่ายว่าปลอดภัยดี   และจะมีข่าวดีปล่อยตัวกลุ่มแรกเร็วๆนี้   บริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศอียิปต์  



          รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เดินทางกลับอย่างต่อเนื่องล่าสุดเมื่อ 7 พ.ย. ที่ประชุมครม.อนุมัติ “งบกลาง” รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน 750 ล้านบาทเพื่อเยียวยาและเพิ่มแรงจูงใจแรงงานให้เดินทางกลับ เพิ่มอีกรายละ  50,000 บาท ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน และก่อนหน้านี้ยังมีงบจาก “กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ” อีก 15,000 บาท ทำให้แรงงานที่เดินทางกลับจะได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้น 65,000 บาทต่อคน ยังไม่รวมกับการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินโดยเฉพาะ “โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย” จากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กำหนดเงื่อนไข ปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 20 ปี  



          ไม่เพียงแต่แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบแต่ “ภาคธุรกิจในอิสราเอล” ก็กระทบหนักไม่แพ้กัน  สำนักงานสถิติกลางของอิสราเอล รายงานว่า ภาคธุรกิจในอิสราเอลกว่าครึ่งประสบภาวะสูญเสียรายได้ขั้นรุนแรง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก  ภาคการก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม โดยพบว่าภาคธุรกิจหลายส่วน พนักงานกว่าร้อยละ 80 ไม่มาทำงาน ก่อให้เกิด “การยุติกิจกรรมทางธุรกิจโดยสมบูรณ์” ทำให้ต้องปิดตัวชั่วคราวหรือเสี่ยงปิดตัว 



       สงครามระหว่าง  “อิสราเอล- ฮามาส” ที่เป็นคู่ขัดแย้ง กำลังจะเข้าสู่เดือนที่ 2 และได้กลายเป็น “วิกฤตมนุษยธรรม” การเรียกร้องให้หยุดยิงไม่เกิดขึ้นจริง ท้ายที่สุดแล้วความสูญเสียครั้งนี้ก็ไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเลขได้ 


                     ขอบคุณข้อมูล เฟซบุ๊ก  : กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง