รีเซต

กยศ. แจงปม "หักเงินเดือน" ผู้กู้เพื่อชำระหนี้ ผ่านนายจ้าง

กยศ. แจงปม "หักเงินเดือน" ผู้กู้เพื่อชำระหนี้ ผ่านนายจ้าง
TNN ช่อง16
5 มีนาคม 2564 ( 09:38 )
239

วันนี้ (5 มี.ค.64) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจงว่า จากการที่กองทุนได้มีหนังสือถึงหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคเอกชนในการหักเงินเดือน เพื่อชำระเงินคืนกองทุนตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 นั้น การดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 เริ่มจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กตามลำดับ

ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่กองทุนต้องแจ้งหักเงินเดือนทั้งหมดประมาณ 107,000 แห่ง และมีผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานของหน่วยงานเหล่านี้ที่อยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนทั้งหมด 1,735,000 ราย ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนได้แจ้งหักเงินเดือนไปยังนายจ้างแล้ว 14,813 แห่ง เป็นจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 1,268,000 ราย และอยู่ในระหว่างการแจ้งหักเงินเดือนในเดือน มี.ค. อีก 92,935 แห่ง ซึ่งมีผู้กู้ยืมจะอยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนจำนวน 466,000 ราย ทั้งนี้กองทุนได้จัดประชุมชี้แจงให้นายจ้างได้รับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สำหรับขั้นตอนการหักเงินเดือนของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้ยืมเงิน กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้างนั้น กองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งหักเงินเดือนไปตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของผู้กู้ยืมเงินได้รับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน จากนั้นกองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งให้นายจ้างทราบถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมเงินรวมทั้งจำนวนเงินที่ต้องหักนำส่งล่วงหน้าประมาณ 30 วัน นายจ้างสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งผ่านระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF) โดยเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th ซึ่งกองทุนจะมีการปรับข้อมูลผู้กู้ยืมให้เป็นปัจจุบันและจะแจ้งข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งให้นายจ้างได้ทราบผ่านระบบดังกล่าวในทุกวันที่ 5 ของเดือน ทั้งนี้ กองทุนขอชี้แจงรายละเอียดการหักเงินเดือนเพื่อความชัดเจน ดังนี้

          1. เมื่อพนักงานได้รับเงินเดือน ลำดับการหักเงินเดือนกองทุนอยู่ในลำดับ 3 โดยลำดับแรกเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลำดับที่ 2 หักกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และประกันสังคม และลำดับที่ 3 หักเงินกองทุน กยศ.

          2. หากนายจ้างไม่ดำเนินการหัก ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ได้ระบุให้ นายจ้างจะต้องชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้นำส่งหรือตามจำนวนที่ยังขาดไปแล้วแต่กรณี แต่ที่ผ่านมาหากหน่วยงานแจ้งเหตุผลข้อขัดข้องหรือความจำเป็นที่ไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมได้ผ่านขั้นตอนในระบบให้กองทุนรับทราบก็ไม่ต้องชดใช้เงินให้กับกองทุน และหากไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนได้ กองทุนยินดีที่จะอนุโลมและผ่อนผันให้ ซึ่งในปัจจุบันกองทุนยังไม่เคยเรียกให้นายจ้างชดใช้เงินหรือเรียกเงินเพิ่มจากนายจ้างแต่อย่างใด

          3. การคำนวณยอดหักเงินเดือน กองทุนจะใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วย 12 เดือน หรือจำนวนเดือนที่เหลือก่อนถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ (5 ก.ค.ของทุกปี) และในงวดปีถัดไปจะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยผู้กู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชำระตามอัตราที่แจ้ง สามารถขอปรับลดจำนวนเงินได้โดยแจ้งความประสงค์ขอลดจำนวนการหักเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน "กยศ. Connect" โดยกองทุนอนุโลมให้ชำระขั้นต่ำเพียง 100 บาท แต่ผู้กู้ยืมเงินยังมีหน้าที่ต้องไปชำระเงินในส่วนที่ขาดไปของงวดนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องชำระก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้รายปี

เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตั้งต้นมาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชน และใช้เงินชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่หมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กองทุนขอเรียนว่า ปัจจุบัน กองทุนไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 และในปีการศึกษา 2563 มีผู้ขอกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 33,000 ล้านบาท

สำหรับปีการศึกษา 2564 นี้กองทุนได้เตรียมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจำนวน 624,000 รายไว้เรียบร้อยแล้ว กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัว เพื่อให้บุตรหลานและนักเรียน นักศึกษารุ่นหลังมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคนอย่างแน่นอน โดยไม่มีการจำกัดโควตาการให้กู้ยืมแต่อย่างใด.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง