รีเซต

ผู้ว่าฯสมุทรสาครสั่งปิดโรงงานผลิตภัณฑ์ยางทำ รพ.สนาม FAI ไร้มาตราฐาน

ผู้ว่าฯสมุทรสาครสั่งปิดโรงงานผลิตภัณฑ์ยางทำ รพ.สนาม FAI ไร้มาตราฐาน
มติชน
31 กรกฎาคม 2564 ( 17:22 )
46
ผู้ว่าฯสมุทรสาครสั่งปิดโรงงานผลิตภัณฑ์ยางทำ รพ.สนาม FAI ไร้มาตราฐาน

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม  นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร,นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และ นางสาวสุวดี ทวีสุข สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกันแถลงผลการตรวจติดตามและการประเมินผลการจัดทำสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ ของสถานประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร ภายหลังจากที่ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครออกคำสั่งให้ สถานประกอบการทุกแห่งที่มีคนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือใช้กำลังเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป จะต้องจัดพื้นที่รองรับการกักตัวผู้ติดเชื้อของโรงงานให้มีเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และต้องเพียงพอต่อการแยกกักตัวของผู้ติดเชื้อในโรงงานตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้จัดทำ FAI ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

 

 

นายวีระศักดิ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งให้สถานประกอบการทุกแห่งที่มีแรงงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป จัดทำสถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อของโรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และต้องให้มีเตียงรองรับอย่างเพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด อีกทั้งยังจะต้องเป็นไปตามแนวทางการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และมีการปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยนั้น ต่อมาจากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่ ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลบางปลา ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีพนักงาน  1,250 คน มีการประกอบกิจการเต็มพื้นที่โรงงาน ไม่มีพื้นที่สำหรับจัดทำโรงพยาบาลสนาม ภายในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งผลการตรวจคัดกรองโรคแบบ  Rapid Antigen test ในพนักงานเกือบครึ่งของทั้งหมด พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกินกว่าที่กำหนด โดยหลังการตรวจพบเชื้อโรงงานแจ้งให้พนักงานกักตัวเองที่บ้านทั้งหมด ซึ่งการสั่งกักตัวเองที่บ้านสร้างความวิตก กังวลให้กับประชาชนที่อาศัยใกล้เคียง ตลอดจนสถานประกอบการไม่มีมาตรการดูแล เยียวยา พนักงานในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโรค และโรงพยาบาลสนาม ยังไม่สามารถเปิดรองรับพนักงานที่ติดเชื้อได้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงเห็นควรให้พิจารณาดำเนินการปิดโรงงาน ซึ่งเป็นคำสั่งสุดท้ายและเด็ดขาดที่สุดที่ทางจังหวัดสมุทรสาคร จะดำเนินการกับสถานประกอบการที่ไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรการ FAI

 

 

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า แม้ว่าสถานประกอบการแห่งนี้จะจัดทำ FAI แต่ก็ไม่ได้มาตรฐาน ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจในการป้องกันและควบคุมโรคแล้วหลายครั้ง ปรากฏว่าสถานประกอบการดังกล่าวก็ยังไม่ดำเนินการตามข้อแนะนำ ไม่มีแผนในการบริหารจัดการและควบคุมดูแลพนักงานที่มีผลเป็นบวก โดยพนักงานบางส่วนที่มีผลเป็นบวกยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการป้องกันและควบคุมโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงทำให้เห็นว่าสถานประกอบการแห่งนี้จงใจละเลย ไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาในการป้องกันและควบคุมโรค อีกทั้งยังมีการร้องเรียนสถนประกอบการแห่งนี้หลายครั้ง ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการ ปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราวและห้ามดำเนินกิจการใดๆในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม – 15 สิงหาคม หรือจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ ,ต้องตรวจคัดกรองพนักงาน 100 % ที่ทำงานในสถานที่แห่งนั้น หากพบพนักงานติดเชื้อให้นำไปแยกกักในโรงพยาบาลสนามของสถานประกอบการแห่งนั้น โดยระหว่างการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต้องมีกระบวนการควบคุมให้พนักงานดูแลตนเองอยู่ในที่พักอาศัยอย่างชัดเจน จัดทำทะเบียนพนักงานโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง ควบคุมการเดินทางของพนักงานไม่ให้ออกจากพื้นที่สมุทรสาคร และ หากสถานประกอบการแห่งนี้ดำเนินการข้างต้นแล้วเสร็จให้เสนอผลการดำเนินงานต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครเพื่อเสนอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หากไม่ดำเนินการตามที่กำหนดอาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการต่อไป ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามในมาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

 

 

นายวีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานประกอบการแห่งนี้นับเป็นแห่งที่ 2 ของจังหวัดสมุทรสาครที่ถูกคำสั่งปิดห้ามดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนสถานประกอบการอื่นๆนั้น มีหลายแห่งที่ได้ปฏิบัติตามและรับพนักงานเข้าดูแลในสถานที่ของตนเองแล้ว ในภาพรวมขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครมีสถานที่กักตัวของโรงงาน หรือ FAI ทั้งหมดประมาณ 1,400 แห่ง มีแรงงานเข้ารับการกักตัวแล้วเกือบ 2,000 คน จากจำนวนเตียงที่มีอยู่ทั้งหมดราวๆ 30,000 เตียง ซึ่งทำให้ไม่เบียดบังกับเตียงของศูนย์พักคอย CI ที่จะใช้รับประชาชนทั่วไป เป็นการช่วยกันเพิ่มจำนวนเตียง ช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลสนามหลัก ช่วยให้ผู้ติดเชื้อในกลุ่มสถานประกอบการตนเองเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว แต่มาตรการนั้นไม่ใช้เพียงแค่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแล้วจะไม่ถูกปิด เพราะจะต้องมีการประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อด้วยว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ และไปแพร่กระจายในชุมชนหรือเปล่า ซึ่งหากสถานประกอบการใดจัดทำ FAI แล้วไม่ได้มาตรฐาน หรือมีไว้เพียงแค่เพื่อถ่ายภาพเท่านั้นก็จะต้องถูกสั่งปิดได้เช่นเดียวกัน

 

 

 

นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องของมาตรการในการดูแลรักษา จะใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประกันสังคมเข้ามาดูแล โดยสถานประกอบการใดขึ้นอยู่กับประกันสังคมของโรงพยาบาลใด ก็ให้โรงพยาบาลนั้นรับผิดชอบดูแล ทั้งเรื่องของระบบสาธารณสุข การจ่ายยารักษาตามอาการ และการนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาหากเกิดอาการรุนแรงมากขึ้น ขณะที่หากสถานประกอบการใดที่ยังมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำ FAI ก็สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน FAI หมายเลขโทรศัพท์ 097 – 2095242

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง