รีเซต

5 คดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประจำปี 66 อาชญากรรมไซเบอร์ดูดเงินคนไทยกว่า 4 หมื่นล้าน

5 คดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประจำปี 66 อาชญากรรมไซเบอร์ดูดเงินคนไทยกว่า 4 หมื่นล้าน
TNN ช่อง16
19 ธันวาคม 2566 ( 16:51 )
142


ต้องยอมรับว่า ‘มิจฉาชีพ’ มีหลากหลายรูปแบบและสามารถเข้าถึงตัวเราได้ในหลายช่องทาง ยิ่งในยุคนี้ที่การสื่อสารเปิดกว้าง แทบจะทุกคนมีโทรศัพท์เป็นของตัวเอง ในส่วนของข้อดีโทรศัพท์ได้ช่วยทำให้การติดต่อระหว่างกันเป็นไปได้สะดวกง่ายขึ้น แต่ส่วนภัยร้ายที่แฝงมาก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียจนถึงชีวิตได้เช่นกัน


ก่อนจะพูดถึง 5 คดีความเสียหายหายที่เกิดจาก ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ทีมข่าว TNN Online ได้สรุปตัวเลขเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมาให้พิจารณา ซึ่งในระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น คนไทยต้องสูญเสียทรัพย์สินให้กับการหลอกลวงรูปแบบนี้ไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท


อ้างอิงสถิติแจ้งความออนไลน์จากเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 มีจำนวน 365,547 เรื่อง 


แบ่งเป็นคดีออนไลน์ จำนวน 336,896 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 45,738,507,864 บาท ตำรวจติดตามอายัดบัญชีได้ 167,347 บัญชี รวมยอดเงิน 11,251,930,652 บาท


10 ประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่

1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มูลค่าความเสียหาย 1,952,445,391 บาท 

2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน มูลค่าความเสียหาย 5,425,376,535 บาท         

3.หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 1,667,282,574 บาท 

4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 13,952,456,410 บาท 

5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 5,449,237,515 บาท 

6.หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 424,280,075 บาท 

7.หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล มูลค่าความเสียหาย 809,110,450 บาท  

8.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มูลค่าความเสียหาย 67,363,563 บาท     

9.หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบ มูลค่าความเสียหาย 960,152,219 บาท 

10.กระทำต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 896,493,347 บาท


หลอก ‘เด็ก 15 ปี’ ร่วมลงทุน จนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง


เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในเดือนมกราคม เคราะห์ร้ายเกิดกับเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วัยเพียง 15 ปีที่จังหวัดนนทบุรี พฤติการณ์คนร้าย คือ ผู้ก่อเหตุได้ติดต่อเด็กผู้เสียหายคนดังกล่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ชวนพูดคุยและหว่านล้อมให้ ‘ร่วมลงทุน’ 


ในลักษณะการซื้อสินค้าให้ได้ตามเป้าหมายและจะได้ผลตอบแทนตามที่ตกลง เด็กชายหลงเชื่อและแอบถอนเงินผ่านแอปพลิเคชันจากบัญชีเงินเก็บของพ่อและแม่หลายครั้ง รวมกว่า 15,000 บาท 


แต่ท้ายสุดเด็กชายไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งไม่สามารถทวงเงินคืนจากแก๊งมิจฉาชีพได้ เขารู้สึกผิดกับครอบครัวจึงตัดสินใจเขียนจดหมายสั่งเสียและจบชีวิตตัวเองในเวลาต่อมา


ในคดีนี้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)เป็นผู้รับผิดชอบคดี ได้แบ่งการสอบสวน 2 ชุดทำงาน หนึ่งเพื่อตรวจสอบในเรื่องช่องทางติดต่อระหว่างผู้ก่อเหตุกับเหยื่อ 


และสองในส่วนของแผนประทุษกรรมที่เชื่อว่าผู้ก่อเหตุมีความเชี่ยวชาญ เพราะหลังจากรับเงินจากผู้เสียหาย ผู้ก่อเหตุโอนหรือยักย้ายถ่ายเทเงินไปเป็นสกุลเงินดิจิทัลได้ทันที เพื่อจงใจหลบหลีกการตรวจสอบ


เหตุสลดฆ่ายกครัว หนี้สินรุมเร้าจากแอปฯเงินกู้นอกระบบ(ปลอม)


ความสูญเสียนี้เกิดขึ้นช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม เมื่อพ่อผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวแบกรับความกดดันไม่ไหว ตัดสินใจจบชีวิตภรรยา ลูกสองคน และตัวเอง เนื่องจากประสบปัญหาหนี้สินมูลค่าหลักล้านบาท 


ต้นเรื่องหลักก่อนเกิดเหตุสลดครั้งนี้ ทางพนักงานสอบสวน(สภ.) จังหวัดสมุทรปราการเปิดเผยว่า ภรรยาของผู้ก่อเหตุได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับทางตำรวจ ระบุว่า ถูกแอปพลิเคชั่นเงินกู้นอกระบบในลักษณะแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง


โดยทางภรรยาได้ติดต่อขอกู้เงินผ่านแอปฯดังกล่าวจำนวน 100,000 บาท แต่ทางคนร้ายสั่งให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีปลายทางหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็น ค่าดำเนินการ ค่าเปิดระบบต่างๆก่อนการกู้เงิน จนกระทั่งผู้เสียหายโอนเงินไปรวมกว่า 1,000,000 บาท (ภายหลังทราบว่าเงินส่วนนี้ต้องกู้ยืมจากแหล่งกู้เงินนอกระบบหลายที่รวมกว่า 1,700,000 บาท)


ท้ายสุดมิจฉาชีพหลอกเงินผู้เสียหายไปได้ เงินถูกโอนต่อไปยังบัญชีม้าและส่งต่อออกนอกประเทศไปทันที ครอบครัวต้องประสบปัญหาหนี้สินจากเงินที่ยืมมา เจ้าหนี้ติดตามทวงหนี้หน้าบ้านทุกวันและเกิดเหตุสลดในที่สุด


ซึ่งคดีนี้ 1 เดือนต่อมาเกิดการขยายผลระหว่างตำรวจประเทศไทยและกัมพูชา จนสามารถจับกุมบัญชีม้าส่วนหนึ่งในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ในพื้นที่กรุงปอยเปต 


ผู้ประกาศข่าว ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็น จนท.กรมที่ดิน หลอกติดแอปฯ 


เรื่องนี้เกิดกับผู้ประกาศข่าวหญิงของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งเธอกลายเป็นผู้เสียหาย จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน โทรไปติดต่อเรื่องการเสียภาษีที่ดินประจำปี สิ่งที่น่ากลัวคือผู้ก่อเหตุทำการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษีที่ดินของผู้ประกาศฯได้อย่างถูกต้องครบถ้วน 


จนเธอหลงเชื่อทำการแอดไลน์ติดต่อเจ้าหน้าที่(คนร้าย) จากนั้นได้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมที่ดินผ่านโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ โดยคนร้ายระบุว่าจะอัพเดทข้อมูลให้ ทั้งนี้เมื่อผู้เสียหายตรวจสอบโมบายแบงกิ้งในภายหลัง พบว่ามีการทำธุรกรรมจากธนาคารในโทรศัพท์ของตัวเองมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000,000 บาท 


ทั้งนี้ผู้เสียหาย ระบุว่า สาเหตุที่หลงเชื่ออย่างสนิทใจเนื่องจากมิจฉาชีพมีข้อมูลตรงกับการเสียภาษี ประกอบกับช่วงเวลาดงกล่าวเป็นช่วงที่ต้องเสียภาษีพอดี รวมถึงไลน์ที่ติดต่อและแอปพลิเคชันมีโลโก้ของกรมที่ดินจริง 


โบรกเกอร์ประกันภัยขายข้อมูลลูกค้าให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์


ก่อนที่มิจฉาชีพ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะติดต่อหาเหยื่อ หรือ ผู้เสียหายได้ สิ่งสำคัญคือพวกคนร้ายจะต้องมีฐานข้อมูลของเป้าหมายก่อน ซึ่งในการจับกุมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้ปรากฎให้เห็นว่าหนึ่งในช่องทางที่ข้อมูลของทุกคนสามารถรั่วไหลไปถึงคนร้ายได้ คือ บริษัทประกันภัย


ทั้งนี้ตำรวจได้ขยายผลการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จนนำไปสู่อดีตโบรกเกอร์ประกันภัยรายหนึ่ง ที่มีพฤติการณ์ขายข้อมูลส่วนตัวคนไทยกว่า 2 ล้านรายชื่อให้ดาร์กเว็บ และ ผู้ต้องหารายเดียวกันนี้อาจเกี่ยวพันในเครือข่ายที่ซื้อข้อมูลจากลูกค้าอาหารเสริม 15 ล้านรายชื่อเพื่อขายต่อให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย


ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา ความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ในฐานความผิดเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดเผยแก่ผู้อื่น, การเข้าถึงข้อมูลที่มีมาตรการป้องกันโดยเฉพาะโดยมิชอบ และ ทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ทางเจ้าหน้าที่จะสืบสวนขยายผลไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป


แผนประทุษกรรม ‘หลอกลูก บังคับแม่’ การเรียกค่าไถ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง


ในคดีสุดท้ายของการจัดอันดับคดีเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประจำปี 2566นี้ ทีมข่าว TNN Online ได้เคยเขียนบทความสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้ทำคดีนี้โดยตรงมาแล้วครั้งหนึ่ง ติดตามอ่านได้ที่ https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/154142/


ซึ่งสาเหตุที่คดีนี้ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งเพราะความเสียหายทางคดีไม่ได้เกิดกับแค่บุคคลเดียวเท่านั้นแต่ยังลุกลามไปถึงคนในครอบครัว อีกทั้งการทำร้ายที่ไม่ได้ส่งผลต่อการสูญเสียทรัพย์สินเท่านั้นแต่ยังส่งผลถึงสภาพจิตใจของคนเป็นพ่อและแม่


โดยผู้เสียหายลำดับที่หนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษาได้รับการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกว่าเธอมีพัสดุตกค้างเป็นพัสดุผิดกฎหมายต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ห่างไกล และต้องถูกตรวจสอบเส้นทางการเงิน การหลอกลวงเป็นไปตามรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เธอสูญเสียเงินในบัญชีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตัวปลอมตรวจสอบ


แต่แล้วความสูญเสียนั้นไม่จบลงเมื่อเจ้าหน้าที่ตัวปลอมที่ปลายสายให้เธอ สร้างสถานการณ์หลอกพ่อแม่ว่าถูกจับเป็นตัวประกันเพื่อความปลอดภัยของชีวิตตัวเองโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์รับปากว่าเป็นสถานการณ์ที่ทำโดยตำรวจ


เมื่อพ่อแม่ได้รู้ว่าลูกอยู่ในภาวะอันตรายจึงพยายามหาทางช่วยและหาเงินมูลค่าหลักล้านบาทส่งให้คนร้ายตามสถานการณ์ที่ถูกจัดฉากไว้ แต่ด้วยข้อสงสัยที่เกิดขึ้นทำให้พ่อและแม่ตัดสินใจติดต่อตำรวจและยับยั้งเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ได้ทัน


คดีที่เกิดขึ้นนี้จึงถือเป็นการหลอกลวงซ้ำซ้อนเริ่มที่ผู้เสียหายลำดับที่หนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษาต่อด้วยผู้เสียหายลำดับที่สองซึ่งเป็นพ่อแม่ นอกจากนี้ถือเป็นการหลอกลวงทางจิตใจเพราะนำเรื่องของชีวิตเข้ามาเป็นเงื่อนไข 


สำหรับภัยร้ายออนไลน์ที่เกิดขึ้น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพลได้เคยทำแบบสำรวจไว้เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ในหัวข้อ ‘ภัยไซเบอร์’


จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ (เช่น เลขบัตรประชาชน รหัสผ่านต่าง ๆ เลขที่บัญชีธนาคาร รูปภาพส่วนตัว เป็นต้น) พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.85 ระบุว่า กังวลมาก รองลงมา ร้อยละ 32.52 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล ร้อยละ 17.10 ระบุว่า ไม่กังวลเลย และร้อยละ 11.53 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล

 

ด้านรูปแบบของภัยไซเบอร์ที่ประชาชนกังวล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 54.20 ระบุว่า ถูกหลอกโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รองลงมา ร้อยละ 45.57 ระบุว่า ถูกแฮ็กข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ 


ร้อยละ 45.11 ระบุว่า ถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ เช่น รหัส ATM บัตรเครดิต รหัสผ่านต่าง ๆ เลขบัตรประชาชน ร้อยละ 41.98 ระบุว่า ถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญผ่าน Social Media, SMS, Website ร้อยละ 24.20 ระบุว่า คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือถูกโจมตีด้วยไวรัสหรือมัลแวร์ชนิดอื่น ๆ จนเกิดความเสียหาย 


ร้อยละ 17.48 ระบุว่า ถูกสอดส่องพฤติกรรมการใช้ Internet ผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 16.72 ระบุว่า ไม่กังวลใด ๆ เลย ร้อยละ 16.26 ระบุว่า โดนดักฟังข้อมูล และร้อยละ 14.66 ระบุว่า โดนเรียกค่าไถ่ข้อมูล


ทั้งนี้เมื่อถามถึงความมั่นใจของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.31 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ รองลงมา ร้อยละ 35.19 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย ร้อยละ 16.49 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 6.79 ระบุว่า มั่นใจมาก และร้อยละ 1.22 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ    


ทีมข่าวTNN Online ขอเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์เตือนภัยร้ายออนไลน์ที่จะสร้างความเสียหายให้กับประชาชน 


ซึ่งหากท่านใดได้รับความเสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งความออนไลน์ได้24 ชั่วโมงที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ www.thaipoliceonline.com หรือโทรศัพท์สายด่วนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โทร 1441




ภาพ TNNOnline  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง