รีเซต

สศค.ชี้“ส่งออก-ท่องเที่ยว”หนุนเศรษฐกิจไทยพ.ย.ขยายตัว ขณะที่ บริโภคเอกชนชะลอ

สศค.ชี้“ส่งออก-ท่องเที่ยว”หนุนเศรษฐกิจไทยพ.ย.ขยายตัว ขณะที่ บริโภคเอกชนชะลอ
ทันหุ้น
27 ธันวาคม 2567 ( 12:12 )
8

สศค.ชี้“ส่งออก-ท่องเที่ยว”หนุนเศรษฐกิจไทยพ.ย.ขยายตัว ขณะที่ บริโภคเอกชนชะลอ เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมกระทบการฟื้นตัว


#ทันหุ้น นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการอย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนยังคงชะลอตัว


ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของภาคใต้ รวมถึงสถานการณ์ของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป


เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน เเต่การบริโภคหมวดสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.6 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนพฤศจิกายน2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.9 จากระดับ 56.0 ในเดือนก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ และการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 8.0


อย่างไรก็ดี การบริโภคหมวดสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว สะท้อนจากปริมาณรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -30.1 และ -4.5 ตามลำดับ และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.9 และ -0.1 ตามลำดับ


เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -5.1 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -6.4 ปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -20.7 และลดลงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -5.6


สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2567 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 17.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.2 ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -0.6 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -4.5


ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ 25,608.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 8.2 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ตามการขยายตัวของสินค้าในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยขยายตัวร้อยละ 40.8 35.8 และ 16.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง อาหารสัตว์เลี้ยง และยางพารา ขยายตัวร้อยละ 44.8 18.1 และ 14.1 ตามลำดับ


อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำตาลทราย ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอินเดีย อินโดจีน (4) จีน และสหรัฐฯ และขยายตัวร้อยละ 31.6 21.0 16.9 และ 9.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ตลาดญี่ปุ่น และฮ่องกง หดตัวร้อยละ -3.7 และ -9.9 ตามลำดับ


เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 3.15 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 19.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.1 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย


ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.3 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ0.5 ตามการเพิ่มขึ้นในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว และมันสำปะหลัง เป็นต้น


อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ลดลงจากเดือนก่อน สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.6 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.3


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 91.4 จากระดับ 89.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี 2) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ และ 3) ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง


เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 0.95 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.80 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ สิ้นเดือนตุลาคม2567 อยู่ที่ร้อยละ 64.0 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ .. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 237.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง