รัฐบาล ปลื้ม ‘ไมโครซอฟท์’ หนุนผลักดันไทยเป็นฮับดิจิทัล
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นาย Ahmed Mazari ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เอเชีย และคณะผู้บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไมโครซอฟท์ โอเปอเรชั่น จำกัด สิงคโปร์
ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรี นำนาย Ahmed Mazari ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เอเชีย และคณะผู้บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เยี่ยมชมตึกภักดีบดินทร์ ภายในทำเนียบรัฐบาล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือ ว่า ไมโครซอฟท์ เป็นบริษัทที่มีการลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง และไมโครซอฟท์ ก็ให้ความสำคัญกับประเทศไทย มาลงทุนในหลายๆ ด้าน ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ วันนี้ที่เดินทางมาทำ MOU กับทางกฤษฎีกา และมายืนยันให้ทางรัฐบาลรู้ว่า ไมโครซอฟท์ สนับสนุนในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเต็มที่ ในการฝึกอบรมให้กับหน่วยงานภาครัฐของไทย ทั้งภาคประชาชนและหน่วยราชการให้มีมากขึ้นในโลกยุคใหม่ รวมทั้งให้การบริการต่างๆ เพื่อรองรับการเป็น Thailand 4.0 ถือเป็นความคืบหน้า ในการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับ ไมโครซอฟท์ และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ ซึ่งทางไมโครซอฟท์ยินดีสนับสนุนให้ความร่วมมือเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัล
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า วันเดียวกันนี้พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการ และหารือถึงการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยแสดงความเป็นห่วง และให้เร่งแก้ไขปัญหา ในส่วนของรัฐบาลได้มีการประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในปัจจุบันก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และติดตามให้โดยตลอด รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายและ บัญชีม้า หรือการโกงเงินบนโลกออนไลน์ ซึ่งข้อกฎหมายยังไม่ชัดเจน ต้องแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับการฟอกเงิน เพื่อไม่ให้มีการดำเนินการฉ้อโกงประชาชนผ่านบัญชีม้า จะได้ทลายขบวนการเหล่านี้ได้
เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์หรือไม่ ว่าเหตุใดคนเหล่านี้จึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เพราะว่าคนเหล่านี้อยู่ในต่างประเทศ หากอยู่ในเมืองไทย เราจับได้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับบ่อนออนไลน์ก็ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เราจึงไม่สามารถจับกุมได้ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องข้อกฎหมาย ก็ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล อย่างไรก็ตามรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาโดยใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดในระบบ เพราะประเทศเราเป็นระบบเปิด สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งปัจจุบันก็มีความตื่นตัวกันมากแล้ว รวมทั้งรู้เท่าทัน ทุกคนก็ต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น