ชวนดูสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย 20 เมษายน 2566
20 เมษายน 2566 คาดว่าจะเกิด“สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย” เวลาประมาณ 10:22 - 11:43 น. คราสบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส เพียงร้อยละ 4 และสังเกตได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ได้แก่ 9 จังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่) และบางส่วนของจังหวัดตราด อุบลราชธานี และศรีสะเกษ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARITpage) แนะนำให้ประชาชนชมผ่านอุปกรณ์กรองแสง ห้ามดูด้วยตาเปล่า หรือแว่นกันแดดโดยเด็ดขาด เตรียมตั้งจุดสังเกตการณ์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/NARITpage
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2566 เป็นสุริยุปราคาแบบผสม (สุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ ๆ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09:42 - 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที
สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ อาจบังทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ #สุริยุปราคาแบบผสม เป็นสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น 2 ประเภท ในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน และสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง
สำหรับสุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี ขณะเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลกภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ NARITpage