รีเซต

ประกันสังคม กับ บัตรทอง แตกต่างกันอย่างไร

ประกันสังคม กับ บัตรทอง แตกต่างกันอย่างไร
TNN ช่อง16
10 พฤศจิกายน 2564 ( 11:45 )
170
ประกันสังคม กับ บัตรทอง แตกต่างกันอย่างไร

ปัจจุบันภาครัฐมอบสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน ซึ่งได้แก่ ประกันสังคม และ บัตรทอง เพื่อให้เป็นสวัสดิการในการรักษาพยาบาลหรืออุบัติเหตุโดยผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้สิทธิประกันสังคมโดยอัตโนมัติ แต่หากไม่ได้เป็นสมาชิกของประกันสังคมเราจะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการอะไรจากรัฐบาลได้บ้าง และประกันสังคม กับ บัตรทอง มีความแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกัน


ประกันสังคม คืออะไร

“ประกันสังคม” คือการสร้างหลักประกันในการใช้ชีวิตให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ ว่างงาน ซึ่งรัฐบาลได้นำระบบประกันสังคมไปใช้เพื่อให้หลักประกันชีวิตแก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสิทธิพื้นฐานประกันสังคมได้ที่นี่ >> ทำความรู้จัก "ประกันสังคม" สิทธิพื้นฐานที่ควรรู้


บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง คืออะไร

บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เราคุณกันในชื่อ บัตรทอง หรือ บัตร 30 บาท ถือเป็นสิทธิประกันสุขภาพที่ผู้มีสิทธิคือ บุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ และต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือผู้ที่ลาออกและเกษียณจากประกันสังคมแล้วเท่านั้นถึงสามารถใช้สิทธิได้


สิทธิประกันสุขภาพ ใครสามารถใช้ได้บ้าง

- ประชาชนคนไทยทุกคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ

- เด็กแรกเกิดที่ไม่มีประกันที่พ่อแม่ซื้อให้ หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากพ่อหรือแม่

- บุตรของข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือสมรส)

- บุตรของข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป (สิทธิข้าราชการจำกัดการคุ้มครองใช้สิทธิได้สูงสุด 3 คน)

- คนที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม หรือหมดสิทธิประกันสังคม

- ข้าราชการที่เกษียณอายุก่อนกำหนดและไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ

- ผู้ประกอบอาชีพอิสระและไม่ได้เป็นผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม


สิทธิการรักษาพยาบาลประกันสังคม และ บัตรทอง ต่างกันอย่างไร


สิทธิประกันสังคม

เจ็บป่วย - ใช้สิทธิ์ได้ในโรงพยาบาลที่เลือกลงทะเบียนไว้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่จำกัดจำนวนครั้งและจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล ส่วนในกรณีที่ต้องหยุดงานพักรักษาตัวมีสิทธิได้รับเงินชดเชยรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง

อุบัติเหตุ - เข้ารักษาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีฉุกเฉินเป็นผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอนใช้ได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี

คลอดบุตร - เหมาจ่ายค่าคลอดบุตรต่อครั้ง ไม่เกิน 2 ครั้ง และได้เงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นเวลา 90 วัน

ทุพพลภาพ - รักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้แต่เบิกจ่ายได้ตามที่กำหนดเท่านั้น และได้รับเงินทดแทนรายได้ 50%ของค่าจ้างจ่ายให้ตลอดชีวิต

ทำฟัน - ใช้สิทธิถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนได้ไม่เกิน 900 บาท/ปี ฟันเทียมได้ทั้งในสถานพยาบาลและคลินิกทันตกรรมที่ร่วมรายการ

โรคไต - ไม่คุ้มครองกรณีไตวาย การปลูกถ่ายไตรวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังมาก่อน แต่มีสิทธิรักษามีสิทธิรักษาได้ไม่เกิน 60 วัน

ยารักษา - เบิกได้ทั้งยาในและนอกบัญชี

ยาต้านไวรัสเอดส์ - ไม่คุ้มครอง


สิทธิบัตรทอง

เจ็บป่วย - ใช้สิทธิ์ได้กับโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสปสช.

อุบัติเหตุ - ใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่จำกัดจำนวนครั้งทั้งในกรณีฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (เฉพาะสถานพยาบาลของสปสช. จะไม่มีค่าใช้จ่าย) หากเป็นสถานพยาบาลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสปสช. (ผู้ป่วยต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด)

คลอดบุตร - ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ทุพพลภาพ - เข้ารักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และค่าพาหนะรับส่งกรณีฉุกเฉินเพื่อส่งตัวรักษาอาการต่อ

ทำฟัน - ใช้สิทธิถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ฟันเทียม รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม เฉพาะสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น สามารถใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและไม่มีวงเงิน

โรคไต - คุ้มครองไตวายรักษาได้ตลอด และการปลูกถ่ายไต ทั้งกรณีที่เป็นและไม่ได้เป็นไตวายมาก่อน

ยารักษา - เบิกได้เฉพาะยาในบัญชีเท่านั้น

ยาต้านไวรัสเอดส์ - ให้ยาต้านไวรัสเอดส์


ทั้งนี้ ผู้ที่จะใช้สิทธิประกันสังคมได้จะต้องเป็นสมาชิกของประกันสังคมที่ยังไม่ได้ลาออกและยังไม่เกษียณอายุ ส่วนผู้ที่จะใช้สิทธิบัตรทองได้จะต้องเป็นประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิอื่น ๆ ของทางภาครัฐ โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถเช็กสิทธิได้ที่นี่ >> เช็กประกันสังคมมาตรา 33 ได้สิทธิอะไรบ้าง


ที่มาข้อมูล : สปสช., สำนักงานประกันสังคม

ที่มาภาพ : AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง