รีเซต

เปิดชีวิตเชลยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในไต้หวัน

เปิดชีวิตเชลยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในไต้หวัน
TNN World
16 มิถุนายน 2564 ( 09:36 )
357
เปิดชีวิตเชลยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในไต้หวัน

Editor’s Pick: ‘มันง่ายที่จะตาย แต่การต้องใช้ชีวิตต่อไป มันเป็นเรื่องยากที่สุด’ ชีวิตเชลยศึกสงครามในไต้หวัน กับประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม  

 

ค่ายที่ถูกลืมท่ามกลางธรรมชาติงดงาม


รายล้อมไปด้วยเนินเขา ‘จินกวาสือ’ คืออดีตเหมืองแร่ทองคำอันงดงามบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน, ที่แห่งนี้ได้รับเลือกเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2002 อีกด้วย

 


แต่ภายใต้ใบไม้ที่เขียวชอุ่ม และทิวทัศน์ท้องทะเลอันไกลโพ้น กลับมีความมืดมิด และส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมซ่อนอยู่ 

 


‘จินกวาสือ’ เคยเป็นที่ตั้งของค่ายเชลยศึก ‘คินคาเซกิ’ ซึ่งมีทหารฝ่ายสัมพันธมิตรราว 4,500 คน ถูกจับมาเป็นเชลยศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

 


ไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในสมัยนั้น และทหารที่ถูกจับกุมโดยกองทัพญี่ปุ่นระหว่างปี 1942 และ 1945 ถูกบังคับให้ทำงานในเหมืองทองแดงภายใต้การดูแลด้วยความหวาดกลัว 

 

 


การใช้แรงงานทาสอย่างแท้จริง


พวกเขาถูกบังคับให้ต้องแบกหินขนาดใหญ่หลายก้อนไปยังไร่อ้อย และขุดทะเลสาบที่สร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ โดยได้รับอาหารประทังชีวิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 


“ที่นี่มันคือค่ายแรงงานทาสอย่างแท้จริง มันทำให้ผมรู้สึกว่าเราต้องตามหาเชลยศึกเหล่านี้ และบอกเรื่องราวของพวกเขา” ไมเคิล เฮิร์สต์ นักประวัติศาสตร์ชาวแคนาดา กล่าวกับสำนักข่าว BBC 

 


เฮิร์สต์ ย้ายมาอยู่ที่ไต้หวันตั้งแต่ปี 1997, เขาใช้เวลามากกว่า 2 ทศวรรษยืนยันสถานที่ของค่ายเชลยศึกสงครามทั้งหมดในไต้หวัน และกำลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นในแต่ละแห่ง เพื่อรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในดินแดนแห่งนี้ 

 


เขารับรู้ด้วยว่า รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกจัดพิธีรำลึกต่อทหารผ่านศึกเหล่านี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งที่มีคนตายมากกว่า 30 ล้านคนทั่วภูมิภาค และเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ค่ายเหล่านี้ถูกลืม ไม่เหลือร่องรอยอดีตอันมืดมิดของเชลยศึกที่อยู่ที่นั่น 

 

 


ชีวิตในค่ายเชลยศึกสงคราม 


เชลยศึกเหล่านี้ต้องทำงานท่ามกลางอากาศที่ร้อนถึง 40 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน และต้องรับมือกับความหนาวเหน็บในช่วงฤดูหนาว, ท่อระบายน้ำที่ใช้เป็นที่พักพิงไม่สามารถกำบังสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ มีหลายคนต้องเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่เลวร้าย 
ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในค่ายแห่งนี้มีหลายรูปแบบ เช่น โรคเหน็บชา การขาดวิตามินทำให้ลูกอัณฑะบวม การได้รับอาหารไม่เพียงพอ แต่พวกเขายังคงถูกบังคับให้ทำงานอย่างหนัก และถ้าพวกเขาทำไม่ได้ตามเป้าในแต่ละวัน ยามผู้ดูแลจะตีพวกเขาด้วยค้อน 

 


ระหว่างที่ เฮิร์สต์ ค้นคว้างานวิจัยด้วยการยืนยันตัวบุคคลของเชลยศึกนับพันคน และติดต่อไปมากกว่า 800 คน โดยติดต่อผ่านทางจดหมาย และเรียบเรียงลงในหนังสือของเขา ‘Never Forgotten’ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเสียชีวิตไปหมดแล้ว ยกเว้นชายคนหนึ่งผู้มีอายุมากกว่า 100 ปี 

 


“ชายคนนั้นบอกกับผมว่า มันเป็นเรื่องง่ายที่จะตาย แต่การต้องใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน มันกลายเป็นเรื่องยากที่สุด” เฮิร์สต์ กล่าว 
“เราหิวตลอดเวลา ความคิดของพวกเรามีแต่ต้องรอดชีวิต และต้องการกลับบ้าน” จ่าคาร์ล เอ พาเซอร์กา ทหารบกสหรัฐฯ หนึ่งในเชลยศึกสงครามที่รอดชีวิต เขียนลงในจดหมายและส่งให้เฮิร์สต์ก่อนตาย 

 


ตามรายงานของพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ายเชลยศึกสงครามของญี่ปุ่นในเอเชีย มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าค่ายที่ดูแลโดยกองทัพเยอรมันและอิตาลีในยุโรปเสียอีก

 


ประมาณ 27-42% ของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตายด้วยความอดอยาก ไม่ได้รับการรักษา เจ็บป่วย หรือประหารชีวิต เมื่อนำมาเทียบกับอัตราการเสียชีวิต 1-2% ในยุโรป 

 

 

 


บาดแผลที่เหลือไว้


เมื่อเชลยศึกหลายคนได้รับอิสระและหลุดพ้น ไม่ต้องพบเจอกับความหวาดกลัวอีกต่อไป, หลายครั้งพวกเขาถูกรัฐบาลของพวกเขาสั่งไม่ให้พูดถึงเรื่องการกักขังหน่วงเหนี่ยว เพื่อที่กลยุทธ์การต่อสู้ที่มีข้อบกพร่องจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน 

 


ผู้รอดชีวิตหลายคนได้รับผลกระทบเป็นเวลายาวนานจากการโดนทรมาน และโรคระบาดที่เกิดขึ้นในค่าย บางคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร บางคนมีบาดแผลทางจิตใจจากการถูกคุมขังมาเป็นเวลาหลายปี 

 


“แจ็คไม่เคยพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เข้าเจอที่ค่ายเชลยศึกสงคราม” เอลลีน เอสลีย์ กล่าวถึงสามีผู้ล่วงลับ จอห์น เอสลีย์ ซึ่งเคยรับราชการทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ในสหราชอาณาจักร, เขาตายด้วยโรคที่ได้รับมาจากค่ายเชลยศึก 

 


“มันทำให้ฉันรู้สึกเศร้าอย่างมากที่รู้ว่าเขาเคยมาที่แห่งนี้ ฉันแต่งงานกับเขา และฉันไม่รู้เลยว่าเขาต้องทนทุกข์มากแค่ไหน”
เธอและลูกสาวของเธอ ลินน์ เมาท์ เคยมาไต้หวัน 2 ครั้ง เพื่อมาดูค่ายที่จอห์นเคยถูกจับมาเป็นเชลยศึกสงคราม 

 


ระหว่างการมาครั้งที่ 2 ลินน์ เมาท์ บอกว่า “ค่ายแห่งนี้ยังคงทำให้ฉันโกรธและเศร้ามาก แต่ขณะเดียวกันฉันก็รู้สึกสงบ โดยเฉพาะตอนที่ได้สัมผัสกับชื่อของพ่อฉัน ฉันรู้สึกเหมือนว่าเราใกล้กันมาก และฉันสามารถสัมผัสถึงพ่อได้เมื่อมาที่ค่ายนี้”

 

 


รอยด่างพร้อยของประวัติศาสตร์


สำหรับชาวไต้หวัน ค่ายแห่งนี้ถือเป็นรอยด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ประชาชนต่างตระหนักดีว่าในสมัยนั้น พวกเขาเคยอยู่ใต้กฎการปกครองของอาณานิคมญี่ปุ่น  

 


“ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในสงคราม เนื่องจากเป็นฐานทัพหลักที่ญี่ปุ่นใช้ในการเดินทางช่วงสงครามหลายครั้ง” 
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไต้หวันสอนประชาชนถึงประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่เพียงพอ และแทบไม่สอนเกี่ยวกับเชลยศึกพันธมิตรที่เกาะนี้ หรือบทบาทสำคัญทางยุทธศาสตร์ของไต้หวันเลย

 


นอกจากนี้ มีข้อเท็จจริงที่ว่าชาวไต้หวันบางคนเต็มใจทำงานหรือต่อสู้เพื่อญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน, พวกเขาถูกฝึกให้จงรักภักดีต่อญี่ปุ่น และทำงานเป็นยามในค่ายหรืออาสาสมัครรับใช้ต่อทหารจักรพรรดิ รวมถึงเป็นทหารกามิกาเซ่ ที่ฆ่าตัวตายด้วยการพุ่งเข้าไปและจุดชนวนระเบิดใส่กลุ่มทหารฝ่ายสัมพันธมิตร 

 

 


เรารู้จักประวัติศาสตร์กันไม่เพียงพอ


เฮิร์สต์ เชื่อว่าเราควรสอนประวัติศาสตร์ให้มากกว่านี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารที่ต่อสู้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย 

 


หลังสงครามสิ้นสุด เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นและยามผู้ดูแลชาวไต้หวันหลายคนในค่าย ถูกตัดสินว่ามีความผิด และนำตัวเข้าคุก แต่ภายหลังก็ได้รับการนิรโทษกรรม 

 


แต่เฮิร์สต์เชื่อว่า ยังมีคนที่ไม่ได้รับการลงโทษจากความผิดที่ก่อขึ้นในช่วงสงครามมากกว่า 50% 

 


ขณะเดียวกัน ยามผู้ดูแลชาวไต้หวันบางคนที่เคยทำงานอยู่ในค่ายได้ออกมาขอโทษต่อเชลยศึกสงคราม 

 


“เมื่อคนเหล่านี้ได้ออกมาขอโทษ เหล่าผู้รอดชีวิตหลายคนต่างพูดว่า ‘ฉันให้อภัยคุณ’ ทำให้ยามผู้ดูแลเหล่านั้นสามารถตายได้อย่างสงบสุข ดังนั้น การให้อภัยจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุด”

 


สำหรับเฮิร์สต์ สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดคือการสร้างความตระหนักรู้ว่า อดีตเชลยศึกเหล่านี้ยากลำบากมามากแค่ไหน และการเสียสละในช่วงสุดท้ายของชีวิตของพวกเขา

 


"ไม่มีใครที่ฉันคุยด้วยและไม่บอกว่า 'ในที่สุดก็มีคนห่วงใย' พวกเขารู้สึกขอบคุณมากที่พวกเขาไม่ลืม คนเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานเพื่ออิสรภาพที่เรามีในวันนี้"


—————
เรื่อง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: MICHAEL HURST

ข่าวที่เกี่ยวข้อง