“จุลพันธ์”เผย คลังเล็งออกมาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวพื้นที่น้ำท่วมหลังน้ำลด
“จุลพันธ์”เผย คลังเล็งใช้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยใช้มาตรการทางภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวและการเงินเสริมสภาพคล่อง พร้อมผุดไอเดียคลังสัญจรลงพื้นที่หลังน้ำท่วมลด
#ทันหุ้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในปีนี้ โดยอาจจะผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยว และ มาตรการทางการเงิน
“หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว กระทรวงการคลัง จะลงไปช่วยให้ 2 มิติ คือ 1.การสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม คือ จะทำอย่างไรให้คนกลับไปเที่ยว ไปจับจ่ายใช้สอยพื้นที่นั้นๆและ 2.มาตรการด้านการเงิน จากสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งตอนนี้ก็มีการออกไปแล้วหลายมาตรการ ซึ่งคลังก็จะนำกลับมาทบทวนดู ว่าจะสามารถใช้เครื่องอะไรเพิ่มเติมได้อีก และเมื่อได้ตัวมาตรการได้แล้ว ก็จะมีการลงพื้นที่ในลักษณะ คลังสัญจร ซึ่งจะลงไปในพื้นที่ที่ประภัย เช่น เชียงใหม่แม่สาย เป็นต้น”
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.นี้ ได้อนุมัติเงินเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นจำนวนเงิน9,000 บาทต่อทุกครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ รวมทั้ง ครม.ยังได้อนุมัติตามที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ได้เสนอ มาตรการค่าล้างโคลนครัวเรือนละ 10,000 บาท นอกจากนี้จะมีมาตรการอื่นๆ อาทิ เงินช่วยค่าซ่อมแซมบ้าน หรือเยียวพื้นที่การเกษตร
แหล่งข่าวกล่าวว่าในอดีตกระทรวงการคลัง ได้เคยออกมาตรการการเงินการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2550โดยให้สามารถนำค่าซ่อมบ้าน มาหักเป็นค่าลดหย่อนทางภาษีได้ ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท ,ค่าซ่อมแซมรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม สามารถนำมาหักได้คันละไม่เกิน 3 หมื่นบาท ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่ทางราชการได้ประกาศเป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยในระหว่างวันที่ 5 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค.2550
นอกจากนั้น กระทรวงการคลัง ยังได้ใช้สถาบันการเงินของรัฐ คือ SME bank ในการอัดฉีดสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2550 โดยอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในวงเงินรวม 5 พันล้านบาท เพื่อให้กู้แก่ SMEs รายละไม่เกิน 15 ปี ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ กล่าวคือในปีที่ 1-3 ของการกู้ จะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 3 % และปีที่ 4-7 คิดในอัตราตามที่ SME bank ประกาศกำหนด
สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยนั้น กระทรวงการคลังสามารถทำได้ในหลายวิธีหนึ่งในนั้นคือการใช้มาตรการภาษี โดยให้สามารถนำรายจ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในเขตที่ประสบภัยมาหักลดหย่อนภาษีได้ คล้ายกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมืองรองในปี 2565 ที่กรมสรรพากรให้บริษัทนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายค่าอบรมสัมมนาภายในประเทศให้กับพนักงาน ในพื้นที่เมืองรองโดยสามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้100 %