บสย.ช่วย”SMEs-รายย่อย”กระทบภาษีทรัมป์ เปิดวงเงินค้ำประกันพิเศษ 5,000 ล้าน

บสย.ออกมาตรการช่วย”SMEs-รายย่อย”กระทบภาษีทรัมป์เข้าถึงแหล่งทุน เปิดวงเงินค้ำประกันพิเศษ 5,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก ปีต่อไป 1.5% ต่อปี ค้ำประกันสูงสุด 7 ปี เผยยอดค้ำประกันครึ่งปีแรกเกือบ 2 หมื่นล้าน
#ทันหุ้น นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เปิดเผยว่า เพื่อรองรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEsและรายย่อยจากมาตรการภาษีทรัมป์ บสย.ได้ออกมาตรการพิเศษสำหรับการค้ำประกันกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว โดยมีวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท
วงเงินการค้ำประกันดังกล่าว แบ่งเป็น 2โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Power Trade & Biz วงเงิน 3,000 ล้านบาท ค้ำประกันต่อราย 500,000 – 10,000,000 บาท ตอบโจทย์กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มที่ได้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Micro Biz วงเงิน 2,000ล้านบาท ค้ำประกันต่อราย 10,000 – 500,000 บาท ตอบโจทย์กลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) พ่อค้า แม่ค้า ค้าขายออนไลน์ อาชีพอิสระ ฯลฯ ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน แต่ขาดคนค้ำและขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
ทั้ง 2 โครงการมีจุดเด่น คือ ฟรี ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก ปีต่อไปชำระต่ำเพียง 1.5% ต่อปี ค้ำประกันสูงสุด 7 ปี มุ่งเสริมสภาพคล่อง และลดภาระทางการเงิน ช่วยให้ SMEs เดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน
โดยเป้าหมายทั้ง 2 โครงการ มุ่งกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในรายที่ต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยการจ่ายเคลม (จ่ายค่าประกันชดเชย) สูงถึง 37% (SMEs Power Trade & Biz) และ 42% (SMEs Micro Biz) ต่อพอร์ตการค้ำประกันเมื่อเทียบกับการค้ำประกันปกติที่ระยะเวลา 10 ปี โดยมาพร้อมมาตรการแก้หนี้ “บสย. พร้อมช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลม ซึ่งถือเป็นการดูบซับความเสี่ยงด้าน Credit Cost ให้กับ SMEs รายย่อย สนับสนุนให้สถาบันการเงินเชื่อมั่นในการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มให้กับ SMEs รายย่อยมากยิ่งขึ้น
เขายังกล่าวถึงผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 2568 (ม.ค.-มิ.ย.) บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 19,481 ล้านบาท โดยสัดส่วน 51%เป็นโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง (BI 7) และ 49%เป็นโครงการตามมาตรการรัฐ (PGS 11) สามารถช่วย SMEs รายย่อย เข้าถึงสินเชื่อ 21,348 ราย เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย Micro SMEs 81% (ค้ำประกันเฉลี่ย 140,000บาทต่อราย) และอีก 19% เป็น SMEs ทั่วไป (ค้ำประกันเฉลี่ย 4,250,000บาทต่อราย)
ประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3ลำดับแรก ได้แก่ 1. การบริการ 31.4% 2. อาหารและเครื่องดื่ม 10.7% และ 3. เกษตรกรรม 8%ซึ่งทั้ง 3ประเภทครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 50%สะท้อนอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 6เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม “ท่องเที่ยว-เกษตรและอาหารแปรรูป-medical and wellness” ที่ภาครัฐเดินหน้ากระตุ้นการลงทุนและผลักดันเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
