แผ่นดินไหวล่าสุด ชาวเน็ตกังวลตึกถล่มมากสุด - ผวาอาฟเตอร์ช็อก - ชื่นชม K9

จากเหตุการณ์ แผ่นดินไหวล่าสุด เปิดเสียงสะท้อนโซเชียล ชาวเน็ตกังวลตึกถล่มมากสุด - ผวาอาฟเตอร์ช็อก - ชื่นชม K9
แผ่นดินไหวล่าสุด ส่งผลให้แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด อาคารสูงสั่นไหว การจราจรหยุดชะงัก และเกิดตึกถล่ม ซึ่งนำไปสู่กระแสความตื่นตระหนกในสังคม ประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด ขณะที่หน่วยงานรัฐและเอกชนเร่งรับมือเหตุการณ์
ชาวเน็ตกลัวตึกถล่ม - ผวาอาฟเตอร์ช็อก
จากการวิเคราะห์ข้อมูลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผ่านเครื่องมือ Social Listening (DXT360) ในช่วงวันที่ 28-31 มีนาคม 2568 พบว่าหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่:
ตึกถล่ม (37%) : อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารสูงในไทย
อาฟเตอร์ช็อก (27%) : แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวหลักจะสิ้นสุดลง แต่ยังมีอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในอาคารสูง
การช่วยเหลือผู้รอดชีวิต (26%) : ทีมกู้ภัย โดยเฉพาะ "ทีม K9" ได้รับคำชื่นชมจากสังคมออนไลน์ในการค้นหาผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคาร
ปัญหาการเดินทาง (5%) : ระบบขนส่งมวลชน เช่น BTS และ MRT หยุดให้บริการ ส่งผลให้ผู้โดยสารต้องเดินกลับบ้านท่ามกลางการจราจรที่เป็นอัมพาต
ความมั่นคงของอาคาร (5%) : ประชาชนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารสูง และมาตรฐานการก่อสร้างในไทย โดยเฉพาะอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานที่ปชช. พูดถึงมาสุดช่วงแผ่นดินไหว
การตอบสนองของหน่วยงานรัฐเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึง โดยจากข้อมูล Social Listening พบว่า
กรุงเทพมหานคร (52%) : ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ตั้งวอร์รูมที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เพื่อบริหารจัดการวิกฤต พร้อมเปิดสวนสาธารณะตลอด 24 ชั่วโมง รองรับผู้ได้รับผลกระทบ
กรมอุตุนิยมวิทยา (20%) : ได้รายงานข้อมูลแผ่นดินไหวแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามเกี่ยวกับการแจ้งเตือนล่วงหน้า
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (12%) : กรมโยธาธิการและผังเมือง (10%) ถูกกล่าวถึงในเรื่องของการประเมินโครงสร้างอาคารหลังแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหว ชาวโซเชียลชอบแชร์อะไร
ในช่วงเหตุการณ์ฉุกเฉิน โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางหลักในการติดตามสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยพบพฤติกรรมที่น่าสนใจดังนี้:
- การรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ : ประชาชนแชร์คลิปวิดีโอและภาพเหตุการณ์ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว
- การใช้แฮชแท็ก : เช่น #แผ่นดินไหว #ตึกถล่ม เพื่อช่วยในการค้นหาข้อมูล
- การส่งต่อข้อมูลการช่วยเหลือ : โพสต์เกี่ยวกับจุดรับบริจาคและการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้รับการแชร์จำนวนมาก
บทเรียนและแนวทางป้องกันในอนาคต
เหตุการณ์นี้เผยให้เห็นจุดอ่อนหลายด้านที่ควรได้รับการแก้ไข ได้แก่
- การปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงในพื้นที่เสี่ยง
- การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การส่ง SMS แจ้งเตือนล่วงหน้า
- การเตรียมความพร้อมของระบบขนส่งมวลชน ให้สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้