เมื่อมังกรก้าวข้ามความยากจน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
มีผู้อ่านหลายท่านได้รับทราบข่าวการประกาศชัยชนะเหนือความยากจนของจีน และสอบถามเข้ามามากว่า จีนหลุดพ้นจากความยากจนเบ็ดเสร็จแล้วจริงหรือ ทำได้อย่างไร และจีนวัดการหลุดพ้นจากเกณฑ์อะไร ...
ความยากจนเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว เพราะแม้จะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง แต่ความเหลื่อมล้ำก็ทำให้ประเทศเหล่านี้มีคนระดับล่างที่ยากจนอยู่ส่วนหนึ่งอยู่เสมอ
โดยทั่วไป องค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลของประเทศต่างๆ จะยึดเส้นแห่งความยากจนเป็นเกณฑ์ในการจัดแบ่งสถานะความยากจนของประชาชน เช่น ในอดีต หากใครมีรายได้ต่อวันสูงกว่า 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน ก็ถือคนนั้นหลุดพ้นจากความยากจน
อย่างไรก็ดี เกณฑ์ดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ค่าครองชีพ และอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ รัฐบาลส่วนใหญ่จึงเลือกกำหนดเกณฑ์บนฐานของเงินสกุลท้องถิ่นของตนเอง
จีนเป็นประเทศหนึ่งที่เคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้าย สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แร้นแค้นในยุคปิดประเทศเมื่อราว 6 ทศวรรษที่แล้ว พี่น้องชาวจีนยังเคย “อดอยาก” จนเสียชีวิตปีละนับล้านคน จีนยากจนและล้าหลังกว่าไทยมาก คนจีนเกือบทั้งประเทศจำนวนหลายร้อยล้านคนมีฐานะยากจน บางส่วนต้องอพยพหนีไปตายเอาดาบหน้า จนจีนเคยถูกประเมินว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
หลังการเปิดประเทศครั้งใหม่เมื่อราว 40 ปีก่อน เติ้ง เสี่ยวผิงเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ความยากจนไม่ใช่ระบอบสังคมนิยม” ว่าง่ายๆ เพราะสาเหตุอื่นที่ทำให้ชาวจีนยากจน ไม่ใช่เพราะระบอบการเมืองที่ประเทศใช้อยู่
ในการเดินทางไกลครั้งนี้ จีนมีปัญหาและความท้าทายใหญ่ในหลายระดับและสลับซับซ้อนดั่งเทือกเขาหิมาลัยตั้งอยู่ตรงหน้า
คนจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนอยู่ในฐานะที่ยากจน คิดเป็นกว่า 10 เท่าของจำนวนประชากรของไทยโดยรวม จำนวนคนยากจนที่มากมายดังกล่าวทำให้การแก้ไขปัญหามีความยากและต้องใช้เวลานาน ซึ่งนำไปสู่ข้อเรียกร้องที่มากขึ้นและสูงขึ้นโดยลำดับ
คนยากจนในยุคหลังมักเรียกร้องมากกว่าปัจจัย 4 และยังสูงขึ้นในเชิงคุณภาพ เราจึงเห็นคนยากจนของจีนในยุคหลังไม่เพียงแค่เรียกร้องหลังคาบ้านเพื่อกันแดดฝน อาหารประทังชีวิต เสื้อผ้ากันหนาว และยาและบริการรักษาพยาบาล แต่ยังเรียกร้องไปถึงการขยับเส้นแบ่งความยากจนที่สูงขึ้น และบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ อาทิ การศึกษาภาคบังคับ บริการสาธารณสุข และการประกันสังคม
นอกจากนี้ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท มีระดับการอ่านออกเขียนได้จำกัด และกระจัดกระจายทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางและด้านซีกตะวันตกของจีน ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศและอากาศที่แตกต่างกันมาก พื้นที่ด้านซีกตะวันตกก็มีความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยอยู่น้อย แต่กลับมีจำนวนและระดับความยากจนอยู่สูง
ยิ่งเมื่อพิจารณาระดับความเจริญทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันก็พบว่า เส้นแบ่งความยากจนที่จีนปรับขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 4,000 หยวน ณ สิ้นปี 2019 ก็ยังถือว่าต่ำเกินไปสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูง
ยกตัวอย่างเช่น มณฑลเจียงซู ซึ่งตั้งอยู่ด้านซีกตะวันออกของจีน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากมณฑลกวางตุ้ง กำหนดเส้นแบ่งความยากจนไว้ที่ 6,000 หยวน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก แต่คนส่วนใหญ่กลับเห็นว่าเป็นการยากที่คนจะใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คนยากจนเหล่านี้ยังมีความแตกต่างด้านเผ่าพันธุ์ เพศ ศาสนา และวัฒนธรรม บางส่วนก็ยังมีปัญหาการเมืองทับซ้อนอยู่อีกด้วย อาทิ ทิเบต และซินเจียง ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนต้องดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ อาทิ การเปิดให้คนในพื้นที่มีอิสระในการนับถือศาสนา และการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเข้มข้นควบคู่กันไป
นอกจากนี้ การปรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นระบบทุนนิยม เพื่อหวังให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วและแรง ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา จีนต้องเผชิญกับปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ถ่างกว้างมากขึ้น
แต่จีนก็ไม่ย่อท้อ และเดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญกำหนดเป็นนโยบายหลักและยุทธศาสตร์ชาติ โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวที่มุ่งหวังที่จะเห็นประเทศหลุดพ้นจากความยากจนได้ภายในสิ้นปี 2020
ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราเฉลี่ยเกือบ 10% ต่อปีในช่วง 4 ทศวรรษ จีนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบใหญ่ และได้ปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวจีนเป็น “พอมีพอกิน” ในเวลาเพียงครึ่งชั่วอายุ และขยับเป็น “กินดีอยู่ดี”
แม้กระทั่งองค์การสหประชาชาติ หรือ “ยูเอ็น” ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ก็ยังได้ผนวกให้การขจัดความยากจนเป็นเป้าหมายหนึ่งการพัฒนาแห่งศตวรรษ และให้ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องไว้
ผ่านมาหลายปี ดูเหมือนยูเอ็นได้สนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินมาตรการในระดับระหว่างประเทศไว้อย่างกว้างขวาง และได้รับการชื่นชมอย่างมากในความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากประชาคมโลก
แต่ยูเอ็นก็ผ่านเครดิตต่อไปให้ความเป็นผู้นำของรัฐบาลจีน และการทำงานอย่างหนักของประชาชน เพราะประเมินว่าราว 3 ใน 4 ของคนที่หลุดพ้นจากความยากจนโดยรวมของโลกเป็นชาวจีน ขณะที่รัฐบาลจีนก็ไม่ลืมที่จะขอบคุณนานาประเทศที่แบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์อันมีค่าให้จีนได้สามารถเรียนลัดในการแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน
ในการประชุมสองสภา หรือ “เหลี่ยงฮุ่ย” ซึ่งมีสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคฯ และประธานาธิบดีจีนเป็นประธาน ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อไม่กี่วันก่อน หลี่ เค่อเฉียงก็ยังได้รายงานความสำเร็จในการเอาชนะปัญหาความยากจน ทำให้ชาวจีนกว่า 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนนับแต่เปิดประเทศ เฉลี่ย 20 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรจีนโดยรวม หรือมากกว่าจำนวนประชากรของยุโรปทั้งทวีป สิ่งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์โลกที่น่าเหลือเชื่อยิ่ง
เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า แล้วจีนสร้างปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร ...
ประการแรก ความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์และผู้บริหารประเทศนับเป็นเหตุผลหนึ่ง จีนมีประชากรจำนวนมาก ผู้นำที่ผ่านการคัดกรองมาจึงล้วนเป็นยอดฝีมือในแต่ละยุคสมัย
ผู้นำเหล่านี้ไม่เพียงต้องการมีชื่อว่าดำรงตำแหน่งสำคัญของจีน แต่ต้องการสานต่อชื่อเสียงหรือแก้ไขภาพลักษณ์ของบรรพบุรุษที่คนจีนอาจเข้าใจผิด หรือมองไกลถึงการเป็นรัฐบุรุษของแผ่นดิน เพื่อฝากชื่อเสียงวงศ์ตระกูลให้อยู่ในดวงใจชาวจีนอีกหลายรุ่น
สี จิ้นผิงนับเป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องการต่อสู้กับความยากจน นับแต่ขึ้นรับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2012 รัฐบาลจีนก็ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน และตั้งเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนของภาคประชาชนให้หมดสิ้นภายในสิ้นปี 2020
ตลอดเวลาหลายปีที่ดำรงตำแหน่งผู้นำจีน ท่านได้ให้ข้อคิดและเกาะติดการให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวและบุคคลทั่วไปเป้าหมาย เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการความช่วยเหลือได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากนี้ สี จิ้นผิงยังประชุมและลงพื้นที่ติดตามการความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างใกล้ชิด แม้กระทั่งในช่วงที่จีนกำลังประสบวิกฤติโควิด-19 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ซึ่งสามารถสะท้อนผ่านคำกล่าวของท่านว่า “เราจะไม่ทิ้งคนยากจนไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว” ทั้งที่ ตอนนั้น จีนยังมีคนยากจนอยู่อีกกว่า 10 ล้านคน
นักวิเคราะห์บางคนเปรยไว้ว่า เหตุผลที่สี จิ้นผิงใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะท่านเป็นผู้นำยุคสุดท้ายที่ผ่านความยากลำบากในวัยเยาว์ หากไม่ช่วยให้พี่น้องชาวจีนหลุดพ้นจากความยากจนได้ในยุคนี้ ผู้นำยุคถัดไปอาจไม่เข้าใจหัวอกของคนยากคนจนในประเทศ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่อาจบรรลุเป้าหมาย
นักการเมืองบ้านเราหลายคนยังถึงกับกล่าวว่า ถือเป็นโชคดีของจีนที่ได้ผู้นำที่ดีอย่างสี จิ้นผิงขึ้นมาบริหารประเทศในยุคที่โลกเต็มไปด้วยปัญหาและความเปราะบางในขณะนี้ มิฉะนั้นแล้วหลายเรื่องคงยากจะบรรลุเป้าหมาย
ประการที่ 2 ได้แก่ ความเข้มแข็งของระบบการเมือง เพราะหากมองความสำเร็จดังกล่าวลึกลงไป ก็อาจเห็นถึงพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาล และองค์กรเครือข่ายในจีนที่ตระหง่านอยู่เบื้องหลัง
แม้ว่าจีนจะประกาศต่อสาธารณชนว่า การเมืองเป็นระบบหลายพรรค แต่ในทางปฏิบัติ ก็มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพียงพรรคเดียวที่ครองอำนาจและบริหารประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนมีลักษณะพิเศษในเรื่องความต่อเนื่องในเชิงนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาลจีน
การสานต่อนโยบายจากผู้นำรุ่นก่อนยังเป็นเสมือนภาคบังคับที่ผู้นำรุ่นต่อไปยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางยึดโยงทิศทางและความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย
ตามรัฐธรรมนูญจีนในอดีต ผู้บริหารระดับสูงของจีนก็สามารถดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และอยู่ได้ 2 เทอมต่อเนื่องกัน ทำให้การสานต่อนโยบายดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี แต่เมื่อราว 3 ปีก่อน เงื่อนไขดังกล่าวได้รับการปลดล็อก ทำให้การดำรงตำแหน่งของผู้นำจีนกระทำได้โดยไม่จำกัดเทอม ซึ่งนั่นหมายความว่า สี จิ้นผิงจะสามารถอยู่กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศมากกว่า 10 ปีได้
ประการที่ 3 ได้แก่ “มุ่งมั่น เข้มข้น คิดเก่ง ทำเก่ง” ซึ่งนับเป็นความสามารถพิเศษของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีน ซึ่งหาได้ยากในประเทศอื่น
โดยทั่วไปแล้ว การแปลงนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
ในกรณีของจีน นายกรัฐมนตรีจะรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาประชาชนฯ เป็นประจำทุกปี อาทิ จำนวนคนที่หลุดพ้นจากความยากจน และเป้าหมายที่จะปลดความยากจนจากพี่น้องชาวจีนในแต่ละช่วง และแนวทางในการดำเนินการในอนาคต
มองย้อนกลับมาที่บ้านเรา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นเสมือนมือไม้แขนขาที่ยื่นไปถึงประชาชนของรัฐบาล ส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจกับการแถลงนโยบายของรัฐบาล และอาจเห็นบางคนโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในทำนองว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาจมีความผิด แต่การขัดนโยบายไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
เหตุการณ์เช่นนี้อาจสะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบการเมืองไทย การไม่ตกผลึกของนโยบาย ความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานตามนโยบาย การบริหารจัดการและสายบังคับบัญชาที่ขาดวิ่นเป็นส่วนๆ จนไม่อาจนำไปสู่ภาคปฏิบัติและบรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และอื่นๆ
ด้วยระดับของปัญหาความยากจนที่ใหญ่ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การมุ่งหวังบรรลุเป้าหมายของนโยบายนี้จึงต้องมีแนวทางที่ถูกต้องและการดำเนินมาตรการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนได้เดินหน้านโยบายบนหลักการ “จิงจุ่นฝูผิน” (Jing Zhun Fu Pin) หรือแปลเป็นไทยว่า “แม่นยำและเป็นรูปธรรม”
ตลอดหลายปีต่อมา ผมสังเกตเห็นความพยายามในการพลิกฟื้นสภาพการณ์และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นระบบ โดยรัฐบาลจีนได้ดำเนินสารพัดมาตรการ กิจกรรม และโครงการเพื่อต่อสู้และเอาชนะปัญหาความยากจนดังกล่าวอย่างเข้มข้น
การดำเนินโครงการอย่างถูกต้อง การใช้เงินอย่างแม่นยำ การมีฐานะเป็นคนยากจนจริง การเลือกมาตรการที่ตรงกลุ่ม การคัดสรรผู้ให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับปัญหา และการใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพ นับเป็นเงื่อนไขภาคบังคับที่ใช้ในการดำเนินโครงการ
ในการเดินทางลงพื้นที่ปฏิบัติงานในชนบท เจ้าหน้าที่ของรัฐจะสำรวจและสร้างฐานข้อมูลอย่างละเอียด อาทิ การมีปัญหาด้านสุขภาพและทุพพลภาพของแต่ละครอบครัว รวมทั้งดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจนอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกผลการลงพื้นที่ในแต่ละสัปดาห์ อาทิ ข้อมูลสถานะความยากจน ซึ่งรวมถึงที่ดิน รายได้ และเงินอุดหนุน
เช่น ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกุ้ยโจว หนึ่งในมณฑลที่ยากจนที่สุดของจีนในอดีต สาเหตุแห่งความยากจนมีทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ภูเขาไฟระเบิด และโรคระบาด ขณะที่บางสาเหตุเกิดจากสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้น อาทิ สงคราม ความขัดแย้ง และการแซงชั่นทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในปี 2020 กว่า 65 เขตได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่รุดหน้าเร็วกว่าที่คาดหวังไว้มาก ทำให้คนในพื้นที่จำนวนมากได้รับประโยชน์อย่างมากจากการดำเนินแคมเปญที่ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนเป็นอันดับแรก และมุ่งบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในทางปฏิบัติ ก่อนการเสนอแนะและดำเนินโครงการความช่วยเหลือใด ๆ แก่คนยากจน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์ปัญหาพื้นฐานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขภาคบังคับ อาทิ ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นถนน ตลาด และน้ำสะอาด ทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง การขาดสถาบันการศึกษาและทักษะฝีมือ
เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจีนยังตั้งและทบทวนเป้าหมายย่อยเป็นระยะ อาทิ การกำหนดเป้าหมายการลดจำนวนคนยากจนในแต่ละพื้นที่ด้านตะวันออก-ตอนกลาง-ซีกตะวันตก และจำนวนเขต/ชุมชนที่จะหลุดพ้นจากความยากจนในแต่ละปี
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังต้องมองลึกลงไปถึงโครงสร้างประชากรของผู้ยากไร้ในพื้นที่ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อาทิ สัดส่วนของผู้หญิงและคนวัยทำงาน และความไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งห่วงโซ่แห่งคุณค่า และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม
และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน รัฐบาลจีนยังกระตุ้นด้านนวัตกรรม ส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนาดจิ๋วและขนาดย่อม และจัดหาและฝึกอบรมแก่คนยากจนให้มีทักษะฝีมือและได้ตำแหน่งงานที่เหมาะสมอีกด้วย
โดยมุ่งเน้น “การสอนให้ตกปลามากกว่าการให้ปลา” สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างเวทีใหม่ให้แก่ภาคธุรกิจ แทนที่จะบ่มเพาะนิสัยให้ประชาชนเอาแต่แบมือรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ร่ำไป
รัฐบาลกุ้ยโจวก็สนับสนุนให้คนท้องถิ่นออกมาเปิดร้านรวงผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย และว่าจ้างคนท้องถิ่นที่ชำนาญในแต่ละด้านให้ออกมาใช้ชีวิตตามสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวนอกพื้นที่ได้ซึมซับวิถีชีวิตที่แท้จริง และยังรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ได้
นอกจากนี้ การดำเนินโครงการยังมิใช่ลักษณะ “เสื้อฟรีไซส์” ที่ใช้วิธีการเดียวกันกับทุกพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนส่งเสริมการเพาะปลูกพืชผักและการทำปศุสัตว์แก่เกษตรกรในพื้นที่ชนบทก็ยังต้องเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ความต้องการของตลาด และปัจจัยอื่นในท้องถิ่น
รัฐบาลจีนยังมอบหมายให้มีคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งครอบคลุมถึงหน่วยงานระดับกรม องค์กรระดับตำบลและหมู่บ้าน กิจการเอกชน และสถาบันที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับการปลูกฝังทัศนคติที่เหมาะสมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อมิให้คนยากจนขัดขวางการปรับสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของส่วนรวม แม้กระทั่งในพื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีน
ตัวอย่างเช่น ในปี 2019 รัฐบาลทิเบตได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่จนสามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวทิเบตในเมืองและชนบท และสร้างงานหลายหมื่นตำแหน่ง ทำให้ชุมชนเมืองมีอัตราการว่างงานต่ำพอกับค่าเฉลี่ยโดยรวมของประเทศ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลซินเจียงได้จัดสรรเงินหลายหมื่นล้านหยวนเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ อาทิ การจัดหาน้ำดื่มสะอาดและที่พักอาศัยแก่คนยากจนในพื้นที่ ทำให้ชาวซินเจียงจำนวน เกือบ 650,000 คนก้าวข้ามเส้นแห่งความยากจน และสัดส่วนคนยากจนลดลงอย่างมาก
สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลให้ภาคการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาครัฐเพิ่มบทบาทต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจีน และลดระดับการพึ่งพาภาคการต่างประเทศในเชิงเปรียบเทียบในเวลาต่อมา
ประการถัดมา จีนมี “หน้าตักใหญ่ ความร่วมมือดี นอกกรอบ” การจะเอาชนะปัญหาความยากจนดังกล่าวในระยะยาวได้ต้องมีทรัพยากรอยู่ในมือจำนวนมหาศาล
รัฐบาลจีนพยายามระดมสรรพกำลัง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ การจัดตั้งกองทุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและทรัพยากรการตลาดเพื่อการอุดหนุนแก่เกษตรกรในพื้นที่ชนบน
ทั้งนี้ การใช้เงินในกองทุนดังกล่าวก็แฝงไว้ซึ่งความหลากหลายและยืดหยุ่น ผสมผสานเข้ากับความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการข้ามขอบเขตของอำนาจหน้าที่ พื้นที่ องค์กร และภาคเศรษฐกิจ
โดยในบางพื้นที่ รัฐบาลท้องถิ่นใช้เงินกองทุนเพื่อการสร้างความกระชุ่มกระชวยในชนบทอย่างบูรณาการ การก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนหนทางเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าเกษตรจากชนบทสู่ชุมชนเมือง และการลงทุนเปิดร้านในพื้นที่ท่องเที่ยวและการค้าออนไลน์
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในจีนก็เป็นเหตุผลสำคัญหนึ่ง จนกลายเป็นตัวอย่างที่ดีที่หลายประเทศควรเรียนรู้จากจีน กิจการเอกชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ โดยจัดส่งบุคลากร แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น เงินทุน และเทคโนโลยี และจัดสรรทรัพยากรอื่นไปช่วยสนับสนุนโครงการของภาครัฐ
เพื่อสนับสนุนแคมเปญดังกล่าว ธุรกิจขนาดใหญ่ของจีนจำนวนมากยังต่างดำเนินกิจกรรมและโครงการ CSR อาทิ โครงการ “10,000 กิจการช่วย 10,000 หมู่บ้าน” ซึ่งทำให้เกิดโอกาสในการจ้างงาน การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ การฝึกอาชีพ การลงทุน และการบริจาคแก่ผู้คนในชนบท
ประการสุดท้าย ก็ได้แก่ ความแข็งขันและมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของภาคประชาชนจีน จีนมีจิตอาสาจำนวนมากที่พร้อมอุทิศตนเพื่อการพัฒนาสังคมโดยรวม และยังลงทุนเอาเทคโนโลยีมาทำคลิปแสดงน้ำจิตน้ำใจช่วยเหลือคนยากไร้ ให้อาหาร ขนม น้ำดื่ม เสื้อผ้า และเงินหยวน เพื่อขยายกระแสแห่งความเอื้ออาทรในจีนกันอย่างกว้างขวาง จนผมรู้สึกว่า จีนในวันนี้กำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมของการทำดีอย่างรวดเร็ว
คนในชนบทอาจได้รับความช่วยเหลือด้านการศึกษาและฝึกอบรมจากคนหลากหลายอาชีพและประสบการณ์ ทำให้คนยากจนได้รับการยกระดับความสามารถในการประกอบอาชีพ
ในอีกด้านหนึ่ง คนจีนที่มีอายุราว 45 ปีขึ้นไปต่างต้องเคยมีประสบการณ์ที่ขมขื่นในยุคที่จีนยังยากจน ทุกคนปรารถนาให้ตนเองและลูกหลานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้คนยากจนมุ่งมั่นพัฒนาและอาชีพของตัวเอง
มาถึงวันนี้ รัฐบาลจีนได้ใช้เวลา 4 ทศวรรษหลังการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกในการพลิกฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวจีน 800 ล้านคนที่แร้นแค้นให้หลุดพ้นจากความยากจน แต่ในการประชุมสองสภาของจีนที่เพิ่งจบลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนว่า จีนจะไม่หยุดเพียงแค่นั้น
พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยับสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 4 ปีข้างหน้า ซึ่งถึงตอนนั้นคนจีนราว 1,500 ล้านคนจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวราว 12,700 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
ดูเหมือนจีนกำลังจะเดินทางไกลอีกครั้งเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค “กินดีอยู่สบาย” ...