รีเซต

จีนเตรียมปกป้องโลก เบี่ยงวิถีดาวเคราะห์น้อย ทดสอบในปี 2030

จีนเตรียมปกป้องโลก เบี่ยงวิถีดาวเคราะห์น้อย ทดสอบในปี 2030
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2567 ( 12:04 )
33
จีนเตรียมปกป้องโลก เบี่ยงวิถีดาวเคราะห์น้อย ทดสอบในปี 2030

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) กำลังวางแผนทำภารกิจเบี่ยงทิศทางการโคจรของดาวเคราะห์น้อย ตั้งเป้าเริ่มทดสอบภายในปี 2030 โดยแบ่งออกเป็น 2 ภารกิจ ภารกิจแรกจะเป็นการนำยานพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ในขณะที่ภารกิจที่สองจะเป็นการสังเกตการณ์หินในอวกาศ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบสุริยะและการก่อตัวของดาวเคราะห์น้อย


ในภารกิจนี้ดาวเคราะห์น้อย 2015 XF261 ที่มีขนาดประมาณ 30 เมตร ถูกเลือกเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าวถูกระบุในฐานข้อมูลวัตถุขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดยห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรว่าเคยเข้าใกล้โลกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในระยะประมาณ 50 ล้านกิโลเมตร ด้วยความเร็วประมาณ 42,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเร็วกว่าความเร็วเสียง 30 เท่า


แผนการพัฒนาเทคโนโลยีพุ่งชนหรือเบี่ยงเบนทิศทางการโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่จีนกำลังพัฒนานั้นถูกเปิดเผยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ยืนยันว่ามีวัตถุประสงค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และการป้องกันดาวเคราะห์น้อยที่อาจโคจรเข้ามาใกล้ตำแหน่งของโลกในอนาคต


ทางด้านของวู ไวเรน (Wu Weiren) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสำรวจอวกาศลึกของจีน (DSEL) เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่ากำหนดทำภารกิจพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย 2015 XF261 ของจีน คาดว่าจะมีขึ้นในประมาณปี 2027 หรือก่อนปี 2030 ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2015 XF261 ที่มีกำหนดจะโคจรผ่านเข้าใกล้โลกอีกครั้งในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม 2027 รวมไปถึงในเดือนเมษายน 2028 ซึ่งดาวเคราะห์น้อย 2015 XF261 จะอยู่ห่างจากโลกประมาณ 21 ล้านกิโลเมตร แต่โอกาสที่ดีที่สุดของการทำภารกิจคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2029 ซึ่งดาวเคราะห์น้อย 2015 XF261 จะเข้าใกล้โลกในระยะประมาณ 7.1 ล้านกิโลเมตร 


ก่อนหน้านี้องค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาเคยประสบความสำเร็จในการทำภารกิจ DART หรือภารกิจการนำยานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยชื่อ Dimorphos ในระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ Didymos และสามารถเปลี่ยนตำแหน่งวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยได้สำเร็จ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการป้องกันโลกจากดาวเคราะห์น้อยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต


นอกจากนี้ในเดือนในตุลาคม 2024 ที่จะถึงนี้สำนักงานอวกาศยุโรป (ESA) เตรียมส่งยานอวกาศเฮร่า (Hera) ไปยังระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ Didymos เพื่อประเมินผลกระทบของภารกิจ DART เพิ่มเติม คาดว่ายานอวกาศเฮร่าจะเดินทางไปพบกับดาวเคราะห์น้อยดิมอร์ฟอสและดิดิโมสในปี 2026


ที่มาของข้อมูล Space.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง