รีเซต

หมอประสิทธิ์ ยันยอดโควิดไทยลดจริง ไม่ปิดบังตัวเลข เตือนเฝ้าระวังอีกเดือน

หมอประสิทธิ์ ยันยอดโควิดไทยลดจริง ไม่ปิดบังตัวเลข เตือนเฝ้าระวังอีกเดือน
ข่าวสด
15 กันยายน 2564 ( 13:38 )
43
หมอประสิทธิ์ ยันยอดโควิดไทยลดจริง ไม่ปิดบังตัวเลข เตือนเฝ้าระวังอีกเดือน

หมอประสิทธิ์ ยันยอดโควิดไทยลดจริง ไม่ปิดบังตัวเลข เตือนเฝ้าระวังอีกเดือน คาดต.ค.ตัวเลขยังแกว่งอยู่ที่ 1 หมื่นรายต่อเนื่อง ขอให้ช่วยกันการ์ดสูง

 

 

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย ว่า จากการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ผ่านมา 2 สัปดาห์ พบว่า มาตรการต่างๆ ทำได้ดีทั้ง 3 ด้าน คือ 1.มาตรการวัคซีน ไม่หลุดเป้าหมายการฉีดวันละ 4 แสนโดส 2.มาตรการบุคคล สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ แม้บางส่วนยังไม่ได้ทำตามกำหนด จึงเห็นคลัสเตอร์ เช่น งานศพ และ 3.มาตรการสังคมและการบริหาร แม้มีการผ่อนคลาย เช่น รับประทานอาหารในร้านได้ 50% แต่หลายร้านอาจไม่ได้ทำตามที่ตกลง เมื่อพล็อตกราฟการติดเชื้อตั้งแต่ต้น ก.ย.พบว่า ตัวเลขคู่ขนานกับที่คาดการณ์ไว้ ถือเป็นกราฟที่สวย ขอให้ประชาชนที่ร่วมกันทำดีมาตลอดให้ทำต่อไป เพื่อให้อยู่ในจุดที่วางใจได้ ส่วนตัวเลขที่สำคัญในการคาดสถานการณ์ คือ ผู้ป่วยหนัก และใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้ลดลงคู่ขนานต่อเนื่อง เชื่อว่าตัวเลขติดเชื้อใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

 

ส่วนการตรวจ ATK มีประชาชนที่ตรวจแล้วผลบวกจำนวนมาก หากมีการฉีดวัคซีนได้ตามแผนต่อเนื่อง ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่มีอาการ ส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) เมื่อครบ 14 วันก็จะมีภูมิต้านทานต่อโรคเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในต่างประเทศที่มีการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ของประชากร เขาไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องตัวเลขติดเชื้อใหม่ แต่ให้ความสำคัญผู้ป่วยที่ต้องนอน รพ. และการเสียชีวิตลดลง

 

 

"เรายังต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 ก.ย. อยากให้ร่วมใจกันเฝ้าระวังต่อไปอีก 1 เดือน ตัวเลขจะแกว่งๆ ในระดับ 1 หมื่นคนต่อเนื่องอีกระยะ แต่ถ้ามาตรการวัคซีน บุคคล และสังคมทำได้ดีต่อเนื่อง จะเห็นตัวเลขสวยๆ ได้ แต่ให้ผ่านพ้นเดือนหน้าไปก่อน ซึ่ง ต.ค.จะมีวัคซีนเข้ามามากกว่า 20 ล้านโดส วันนี้ฉีดแล้วมากกว่า 40 ล้านโดส เมื่อรวมกับเดือนหน้าก็ทำให้สบายใจได้ แต่ยังไม่สามารถผ่อนมาตรการป้องกันตัวเอง" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวและว่า เราต้องเร่งมาตรการวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติโดยเร็วที่สุด ควบคู่กับมาตรการส่วนบุคคล

 

 

ทั้งนี้ ตัวเลขในประเทศที่เข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สูงถึง 70% ของประชากร และเข็มที่ 2 ถึง 60% เป็นตัวเลขใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ว่าเข็มที่ 1 สูง 70% แต่เข็มที่ 2 ได้แค่ 20% ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่ปกติได้ เพราะสายพันธุ์เดลตานั้น วัคซีนเข็มเดียวเอาไม่อยู่ แม้จะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกก็เอาไม่อยู่ ต้อง 2 เข็ม แต่สถานการณ์ปกติของไทยยังไม่ใช่เร็วๆ นี้

 

 

เมื่อถามถึงการตรวจ ATK ให้ผลลบ หลายคนมองว่ามาพบเจอ กินอาหารร่วมกันได้ ใช้เป็นบรรทัดฐานสังคมได้หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การศึกษาในต่างประเทศพบว่า สายพันธุ์เดลตาแม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีความเสี่ยงแพร่เชื้อได้ ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกคนติดเชื้อที่รับวัคซีนแล้วกับยังยังไม่รับวัคซีน จำนวนไวรัสใกล้เคียงกัน จึงยังวางใจไม่ได้ หลายคนคิดว่าฉีดวัคซีนแล้ว ตรวจ ATK เป็นลบจะถอดหน้ากาก คิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะเป็นความเสี่ยงมาก ต้องสวมหน้ากากเข้มงวดต่อไป เพราะขณะนี้โรคโควิด 19 อยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดให้ได้ อย่างไรก็ตาม ATK ที่มีความไวและความจำเพาะอยู่ที่ 90% เมื่อผลเป็นลบ ก็ไปพบกันได้ แต่ขอให้แยกกันรับประทาน เสร็จแล้วให้รีบสวมหน้ากาก หากนัดไปทานที่บ้านเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่บ้าน ควรซื้อกลับไปทานที่บ้าน และแยกกันทานจะดีที่สุดเพื่อป้องกันโรคและคนในครอบครัว

 

 

เมื่อถามว่าหลายคนแสดงความคิดเห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่การระบาดรอบ 5 แล้ว ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การประเมินสถานการณ์ต้องดูจากข้อมูลจริง ไม่ใช่ความรู้สึก ตนดูข้อมูลมาตลอด ไม่จำเป็นต้องปิดบัง โดยเฉพาะตัวเลขการติดเชื้อใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงการตรวจพบเชื้อแต่เป็นจำนวนผู้ป่วยใน รพ. เช่น รพ.บุษราคัมเคยเปิดถึง 3 พันเตียง ตอนนี้หลือไม่ถึง 100 เตียง หากจะบอกว่าเข้าการระบาดรอบ 5 ต้องบอกว่า เฝ้าระวังการเข้าระบาดรอบ 5 จะดีกว่า เพราะตอนนี้ตัวเลขติดเชื้อและผู้ป่วยลดลงจริง ไม่ได้แอบตัวเลข โดยเฉพาะผู้ป่วยปอดอักเสบรายงานเข้าระบบมาก็เพื่อจัดส่งยา เรารายงานตามจริง ถ้าบอกว่าระบาดรอบ 5 ก็จะย้อนแย้งกับสถานการณ์ นอกจากจะมีสายพันธุ์เข้ามาที่แพร่เชื้อเร็วหรือรุนแรงกว่าเดิม

 

 

เมื่อถามว่า ต.ค.จะเห็นตัวเลขติดเชื้อใหม่พุ่งสูงขึ้นเป็นหลัก 2 หมื่นรายหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปดูถึงความเสี่ยงที่สำคัญ คือ คน สถานที่ กิจกรรมและช่วงเวลาเสี่ยง ถ้าความเสี่ยงใดเพิ่มขึ้น ก็มีสิทธิกลับมาพบการติดเชื้อสูงขึ้นได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ลดความเสี่ยงในบุคคล ถ้าเรายังป้องกันตัวเองขั้นสูง การ์ดไม่ตก ตัวเลขก็คงไม่เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง