ติดโควิดไร้อาการ ไม่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาที่บ้านหมอคุยกับผู้ป่วยทุกวัน
กรมการแพทย์ แจงผู้ติดเชื้อโควิดเข้าระบบ HI ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นดุลยพินิจของแพทย์ ที่ประเมินว่ามีอาการหรือไม่ หากอาการเริ่มเปลี่ยนจะให้ยาทันที
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.65 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เข้าระบบดูแลที่บ้าน (HI) แต่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ค่อนข้างล่าช้า หรือฮอสปิเทลบางแห่งไม่จ่ายยาให้ ทำให้เกิดคำถามผู้ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ ว่า ผู้ติดเชื้อโควิดที่เข้าระบบ HI จะมีรพ.หรือคลินิกใกล้บ้านจับคู่ดูแลผู้ติดเชื้อ
ซึ่งตามไกด์ไลน์ของกรมการแพทย์ แพทย์จะต้องเทเลเมดพูดคุยซักถามอาการวันละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินอาการ หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากมีเริ่มมีอาการที่อาจเปลี่ยนแปลงไปก็จะต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ทันที
“คำว่ามีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ เราให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์หน้างานที่คุยกับผู้ป่วย แต่ย้ำว่าหากเป็นผู้ที่เริ่มมีอาการแล้ว ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องจ่ายยาเร็ว โดยหลักประเมินเช่น ผู้ติดเชื้ออายุน้อยไม่มีโรคร่วม แต่มีอาการไอ เจ็บคอ ส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องรับฟาวิพิราเวียร์ได้ แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะโอมิครอนที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก มีเพียงเจ็บคอ ไอ หากไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ก็ไม่ได้แปลว่าเชื้อจะต้องลงปอด นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากไม่มีอาการหรืออาการน้อย เช่น ไอ เจ็บคอ ผู้ป่วยแข็งแรง ไม่มีโรคร่วม ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งถ้าเข้าระบบ HI ก็จะมีแพทย์เทเลเมดทุกวัน เพื่อติดตามอาการ