รีเซต

ชิมแพนซีรุมฆ่ากอริลลา นักวิทย์ตะลึงพบเชิงประจักษ์ครั้งแรกในโลก

ชิมแพนซีรุมฆ่ากอริลลา นักวิทย์ตะลึงพบเชิงประจักษ์ครั้งแรกในโลก
ข่าวสด
22 กรกฎาคม 2564 ( 21:30 )
159
ชิมแพนซีรุมฆ่ากอริลลา นักวิทย์ตะลึงพบเชิงประจักษ์ครั้งแรกในโลก

 

ชิมแพนซีรุมฆ่ากอริลลา - วันที่ 22 ก.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เหตุการณ์ฝูงลิงชิมแพนซีรุมทำร้ายและฆ่าลิงกอริลลาถูกพบเห็นและบันทึกไว้ได้เป็นครั้งแรกในโลก กรณีดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากลิงทั้งสองชนิดตามปกติแล้วไม่ได้มีอุปนิสัยดุร้าย

 

 

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติเลาโก ประเทศกาบอง ชาติในภาคกลางของทวีปแอฟริกาที่มีชายฝั่งติดอ่าวกินีและมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่ปี 2562 โดยนักวิทยาศาสตร์เฝ้าติดตามพฤติกรรมของฝูงลิงชิมแพนซีหลายสิบตัว และคาดไว้ว่า พวกมันจะสามารถเข้ากันได้กับฝูงลิงกอริลลา

 

 

 

 

การคาดการณ์ดังกล่าวของผู้เชี่ยวชาญผิดมหันต์ กลายเป็นการสังเกตการณ์ฝูงลิงชิมแพนซีร่วมมือกันต่อสู่กันฝูงลิงกอริลลา กลับตาลปัตรจากนิสัยเดิมของฝูงลิงชิมแพนซีดังกล่าวที่มีนิสัยขี้เล่น เป็นมิตร ในช่วงก่อนหน้า

 

 

นางลารา เอ็ม. เซาเทิร์น ผู้นำคณะนักวิจัย กล่าวว่า ช่วงแรกพวกตนได้ยินเสียงร้องคำรามของลิงชิมแพนซี แต่เข้าใจว่าเป็นการเผชิญหน้ากันเองภายในฝูงของพวกมัน ต่อมาก็ได้ยินเสียงทุบอก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นลักษณะเด่นของลิงกอริลลา จึงพบว่าพวกมันเผชิญหน้ากับฝูงลิงกอริลลา 5 ตัว

 

 

ผลงานการสังเกตการณ์ดังกล่าวเพิ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร the journal Nature โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อสนาบรึค และสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อมานุษยวิทยาและวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต ประเทศเยอรมนี เป็นการสังเกตการณ์เหตุปะทะกัน 2 ครั้ง นาน 52 และ 79 นาที

 

 

เหตุเริ่มจากฝ่ายลิงชิมแพนซีหลายสิบตัวร่วมมือกันโจมตีฝูงลิงกอริลลา 5 ตัว ส่งผลให้กอริลลาหลังเงิน และตัวเมีย ที่เป็นตัวเต็มวัยพยายามป้องกันตัวเองและลูกกอริลลา ซึ่งท้ายที่สุดกอริลลาตัวเต็มวัยที่เป็นหลังเงินและตัวเมียหนีเอาชีวิตรอดไปได้ ขณะที่ลูกกอริลลา 2 ตัว พลัดหลงจากฝูงจึงถูกรุมฆ่า

 

 

"การสังเกตการณ์ของคณะเรานับเป็นหลักฐานชิ้นแรก ว่าการมีอยู่ของฝูงลิงชิมแพนซีนั้นสามารถเป็นภัยคุกคามต่อลิงกอริลลาได้ ส่งผลให้คณะนักวิจัยต้องการเดินหน้าค้นหาปัจจัยที่นำไปสู่ความก้าวร้าวของชิมแพนซีอย่าน่าประหลาดใจในครั้งนี้" คณะนักวิจัย ระบุ

 

 

นายซิโมน พิก้า นักชีววิทยาจากม.อ็อสนาบรึค กล่าวว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นนั้นน่าประหลาดใจเพราะขัดแย้งกับพฤติกรรมก่อนหน้าที่ซึ่งทางทีมงานเคยติดตามมา พบว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝูงลิงชิมแพนซีกับกอริลลานั้นแลดูไม่มีพิษสงอันตรายใดๆ ทั้งออกหาอาหารด้วยกัน และหยอกล้อกัน

 

 

อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัย สันนิษฐานว่า สาเหตุอาจมาจากการแย่งอาหารกัน เพราะสภาพแวดล้อมที่มีทั้งลิงชิมแพนซี ลิงกอริลลา และช้างป่า ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรภายในอุทยานแห่งชาติเลาโก นำไปสู่การโจมตีดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง