รีเซต

อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเผด็จการที่ประชาชนไม่ต้องการ

อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเผด็จการที่ประชาชนไม่ต้องการ
มติชน
10 กันยายน 2563 ( 15:28 )
193
อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเผด็จการที่ประชาชนไม่ต้องการ

อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส เพิ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ครองเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 5 ต่อไป แต่ประชาชนเบลารุส จำนวนหลายหมื่นคนกลับลุกฮือขึ้นประท้วงขับไล่ ลูกาเชนโก ที่ครองอำนาจมายาวนาน 26 ปี ออกจากตำแหน่ง กลายเป็นปรากฏการณ์การประท้วงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเบลารุสมาก่อน

 

เหตุผลหนึ่งเพราะประชาชนเอือมระอากับ การปกครองของ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีวัย 65 ปี ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายแห่งภูมิภาคยุโรป”

 

ลูกาเชนโก ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้ขึ้นมาปกครองเบรารุส ประเทศที่มีประชากร 9 ล้านคน หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ปี 1994

 

ประธานาธิบดีที่มีบุคลิคโดดเด่น มีหนวดเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว สร้างภาพลักษณ์ในฐานะ “พ่อ” ปกครองลูกตั้งแต่เป็นผู้นำชุมชนในยุคสหภาพโซเวียต ก่อนจะนำมาใช้ในการบริหารในฐานะผู้นำรัฐบาลเบลารุส โดยมีกองกำลัง “เคจีบี” เป็นเครื่องมือจัดการคนเห็นต่าง

 

ลูกาเชนโก ที่ยึดครองอำนาจในสภาซึ่งแทบจะไร้ฝ่ายค้าน สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ และออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างหนัก

 

นั่นทำให้การดูหมิ่นประธานาธิบดี และการวิพากษ์วิจารณรัฐบาลมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี

ภายใต้การปกครองของลูกาเชนโก เบลารุส กลายเป็นประเทศที่ถูกมองว่ามีสภาพคล้ายคลึงกับสหภาพโซเวียตในอดีตมากที่สุด
ถนนหนทาง สวนสาธารณะสะอาด รถยนต์ขับเคารพกฎ ไร้มลพิษทางเสียง ประชาชนใช้ชีวิตอย่างสงบ เป็นระเบียบมาตลอดเกือบ 30 ปี ทำให้เบลารุส กลายเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 10 ของโลก ที่มีอาชญากรรมและความรุนแรงต่ำที่สุดในโลก

 

แต่ในทางกลับกัน เบลารุส กลับเป็นชาติยุโรปที่มีเสรีภาพสื่ออยู่ในระดับต่ำที่สุด ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 153 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ในดัชนีเสรีภาพสื่อด้วยเช่นกัน

 

ลูกาเชนโก มีสัมพันธ์สนิทสนมใกล้ชิดกับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ทั้งสองมีความชื่นชอบกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเหมือนกัน ต่อสายคุยกันทุกสัปดาห์ นั่นทำให้รัสเซีย พร้อมส่งกองกำลังความมั่นคงเข้าช่วยเหลือลูกาเชนโก ได้ทุกเมื่อหากได้รับการร้องขอ

 

แต่ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกของลูกาเชนโก กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ชาติตะวันตกต่างเรียงหน้ากันออกมาประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าไม่เสรีและเที่ยงธรรมตามมาตรฐานระดับนานาชาติ

 

ส่วนลูกาเชนโก ออกมาโจมตีชาติตะวันตกว่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อต้องการโค่นล้มตนให้ลงจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามกระแสต่อต้านจากประชาชนที่เคยอยู่กันอย่างสงบ เริ่มแสดงออกให้เห็นสู่สาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ แรงงานบริษัทของรัฐหลายแห่งประกาศนัดหยุดงานประท้วง ขณะที่พนักงานสื่อกระบอกเสียงของรัฐ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฏหมายจำนวนหนึ่งออกมาแสดงออกต่อต้านรัฐบาลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น

 

จากนี้คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าแรงต่อต้านของประชาชนจะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเบลารุสมากแค่ไหน หรือผู้ประท้วงจะถูกปราบปรามลงอย่างรุนแรงด้วยอำนาจเผด็จการในมือของลูกาเชนโกในที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง