ศบค.โชว์งบรักษาโควิด ปี 63-65 ใช้ไปแล้วกว่า 1.34 แสนล้าน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุม ศบค. ได้มีการพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับบริการโควิด-19 เมื่อปี 2563-2565 โดยในปี 2563 มีการใช้งบประมาณรวม 3,841.15 ล้านบาท แบ่งเป็น กรมบัญชีกลาง 232.19 ล้านบาท ประกันสังคม 306.87 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,302.09 ล้านบาท ในปี 2564 มีการใช้งบประมาณรวม 97,747.94 ล้านบาท แบ่งเป็น กรมบัญชีกลาง 3,652.97 ล้านบาท ประกันสังคม 42,917.39 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 51,177.58 ล้านบาท และในปี 2565 หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับงบประมาณ 32,488 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอขอรับงบประมาณเพิ่มเติมอีก 51,065.13 ล้านบาท หากรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายค่าบริการโควิดในช่วงปี 2563-2565 รวมทั้งหมดจำนวน 134,072 ล้านบาท
ส่วนยอดการจ่ายชดเชย พบว่า ภาครัฐที่มีจำนวนโรงพยาบาล 3,506 แห่ง ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 70,994 ล้านบาท คงเหลือที่ยังไม่ได้จ่ายอีก 3,090 ล้านบาท ส่วนเอกชน 672 แห่ง เบิกจ่ายไปแล้ว 27,160 ล้านบาท คงเหลือที่ยังไม่ได้จ่ายอีก 100 ล้านบาท รวมแล้วเบิกจ่ายไปเกือบแสนล้านบาท สำหรับค่าเฉลี่ยการจ่ายค่ารักษาโควิด-19 ต่อราย แบ่งตามอาการ โดยผู้ป่วยสีเขียว พบว่า ภาครัฐจ่ายไป 23,248 บาท เอกชน 50,326 บาท, ผู้ป่วยสีเหลือง ค่าใช้จ่าย 81,844 บาท เอกชน 92,752 บาท และผู้ป่วยสีแดง ค่าใช้จ่าย 252,182 บาท และเอกชน 375,428 บาท ซึ่งจะเห็นว่าเอกชนสูงกว่าภาครัฐพอสมควร
“ส่วนในวันที่ 1 มี.ค.2565 สปสช.จะใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยปรับราคาลงมา โดยผู้ป่วยสีเขียว อยู่ที่ 12,000 บาท สีเหลือง 69,300 บาท และสีแดง 214,400 บาท”
นอกจากนี้ ในส่วนของสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับ UCEP ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด-19 จากการสำรวจพบว่าเป็นผุ้ป่วยสีเขียว (ไม่มีอาการ/อาการน้อย) ใช้สิทธิในส่วนนี้ถึง 88% ขณะที่สีแดง (ใส่เครื่องช่วยหายใจ-ใช้ออกซิเจน) มีเพียง 1% ส่วนสีเหลือง (มีโรคแทรกซ้อน/มีภาวะปอดอักเสบ) มี 11% อย่างไรก็ตามที่ประชุม ศบค.ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และขณะนี้รัฐบาลยังคง UCEP แต่หากสปสช.จะมีการปรับเกณฑ์ก็ให้เสนอเพื่อพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความสมเหตุสมผลในการใช้งบประมาณต่อไป