รีเซต

สภาพัฒน์ฯ ห่วงโควิดทำคนจนปี 63 พุ่ง! ชี้ ปี62 จนลดลงเหลือ 4.3ล้านคน

สภาพัฒน์ฯ ห่วงโควิดทำคนจนปี 63 พุ่ง! ชี้ ปี62 จนลดลงเหลือ 4.3ล้านคน
ข่าวสด
3 พฤศจิกายน 2563 ( 13:59 )
87
สภาพัฒน์ฯ ห่วงโควิดทำคนจนปี 63 พุ่ง! ชี้ ปี62 จนลดลงเหลือ 4.3ล้านคน

วันที่ 3 พ.ย.2563 น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อนำเสนอสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งการวิเคราะห์ลักษณะของปัญหาและนโยบายหรือโครงการสำคัญของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี 2562 ซึ่งเป็นการรายงานสถานการณ์ล่าสุดของ สศช. พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจาก 9.85 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562 หรือมีคนจน จำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจน ในระหว่างปี 2541-ถึงปัจจุบัน สัดส่วนและจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วน 38.63 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือ 17.88 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือ 6.24 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562

 

สำหรับสถานการณ์ความยากจนในระยะ 5 ปี หลัง (ปี 2558-2562) พบว่า สัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วน คนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง

 

ขณะที่ในปี 2561 เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ซึ่งส่งผลสืบเนื่องต่อผู้มีรายได้น้อยซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารโลก (World Bank, 2019. "Taking The Pulse of Poverty and Inequality in Thailand") ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความยากจน ในระยะหลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก ระบุว่า อาจเกิดจากความยากจนของไทยลดลงมากจากอดีตที่ผ่านมา จนทำให้ครัวเรือนที่มีสถานะยากจนอยู่ในปัจจุบันเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง หรืออยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด

 

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์กลุ่มคนยากจนในระยะหลัง พบว่า ครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ (Economically Inactive Household) มีการพึ่งพิงสูงโดยมีเด็กและผู้สูงอายุจำนวนมาก ในครัวเรือน และจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า (คนจน 79.18 เปอร์เซ็นต์ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า)

 

อีกทั้ง ผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง โดยในปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (ในระหว่างช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.2561)

 

สำหรับกลุ่มผู้พิการผู้สูงอายุผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน ในรอบก่อนหน้า โดยผู้ที่มีบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200-300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวม สูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้ง คนยากจนบางส่วนยังได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

 

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนในปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง

 

ขอเรียนว่าการนำเสนอสถานการณ์ และการวิเคราะห์ข้อมูล สำนักงานฯ ยึดหลักวิชาการ และความถูกต้องเป็นหลัก เพื่อสะท้อนผลการพัฒนาที่แท้จริงสู่ประชาชน และใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง