รีเซต

พบ"โรคไอกรน"ระบาดในสถานศึกษา

พบ"โรคไอกรน"ระบาดในสถานศึกษา
TNN ช่อง16
13 พฤศจิกายน 2567 ( 11:25 )
16
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม และการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคไอกรนในระยะแรกจะคล้ายหวัดธรรมดา มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย และมีไข้ต่ำๆ หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ จะมีอาการไอรุนแรงเป็นชุดๆ จนกระทั่งหายใจเข้าดังวี้ด บางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็กทารกอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเขียว หยุดหายใจ และอาจเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการหากพบว่าเด็กมีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอรุนแรงจนอาเจียน หรือหายใจมีเสียงดังผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโรคไอกรนในปัจจุบันมีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กเริ่มลดลงตามกาลเวลา โดยเฉพาะหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายในช่วงอายุ 4 ขวบ ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของประชากรในภูมิภาคที่มีความแตกต่างของการเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานสำหรับการป้องกันและควบคุมการระบาด สถานศึกษาจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวด ทั้งการคัดกรองนักเรียนที่มีอาการไอเรื้อรังหรือไอรุนแรงเป็นชุด แยกผู้ป่วยและให้หยุดเรียนจนกว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะครบ 5 วัน พร้อมทั้งแจ้งผู้ปกครองในห้องเรียนที่พบผู้ป่วยเพื่อเฝ้าระวัง ในส่วนของผู้สัมผัสใกล้ชิด ต้องได้รับยาปฏิชีวนะป้องกันและสังเกตอาการ 21 วัน ในเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนยังไม่ครบ ควรมีการฉีดกระตุ้นให้เร็วที่สุด สำหรับเด็กโตที่ ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นช่วงอายุ 11-12 ปี พิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้น Tdap (Tetanus-Diphtheria-acellular Pertussis) แม้จะเป็นวัคซีนทางเลือก แต่มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากเป็นชนิดไม่พึ่งเซลล์ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยโรคไอกรนอาจมีความรุนแรงในบางกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมถึงบุคลากรที่ต้องดูแลเด็ก จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ปกครองอาจไม่ทราบหรืออาจไม่ได้พาบุตรหลานไปรับวัคซีนกระตุ้นในช่วงประถมปลายหรือมัธยมต้น จึงขอความร่วมมือสถานศึกษาช่วยประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนผู้ปกครองถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนกระตุ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง