รีเซต

โควิด-19 : มาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้คนรู้สึกเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ในประเทศของตัวเอง

โควิด-19 : มาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้คนรู้สึกเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ในประเทศของตัวเอง
ข่าวสด
30 พฤษภาคม 2564 ( 11:46 )
43
โควิด-19 : มาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้คนรู้สึกเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ในประเทศของตัวเอง

 

"เราได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศของเราเอง" ผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนหนึ่งในตุรกีแสดงความไม่พอใจ

 

ไม่ได้มีเพียงเขาที่คิดเช่นนั้น ชาวตุรกีอีกหลายพันคนต่างระบายความโกรธผ่านทางโซเชียลมีเดีย หลังจากเห็นวิดีโอส่งเสริมการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวที่เน้นย้ำว่า ตุรกีเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยจากโควิด

 

คลิปวิดีโอ ซึ่งทางกระทรวงได้ลบออกไปแล้ว เป็นภาพเจ้าหน้าที่ในโรงแรมและชายหาดต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในภาคการท่องเที่ยวของตุรกี สวมหน้ากากสีเหลืองที่มีข้อความว่า "ขอให้สนุก ผม (ฉัน) ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว"

 

Turkish Ministry of Tourism
เจ้าหน้าที่ทางการตุรกี ลบวิดีโอส่งเสริมการท่องเที่ยวออก หลังเผชิญการวิพากษ์วิจารณ์

ขณะนี้มีประชากรในตุรกีที่ได้รับวัคซีนแล้วเพียงประมาณ 14%

 

แต่รัฐบาลได้เริ่มรณรงค์ให้วัคซีนแก่ทุกคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อนที่จะถึงช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงหน้าร้อนนี้ การท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งของเศรษฐกิจของตุรกี

 

Getty Images
ตุรกียังคงรักษาภาคการท่องเที่ยวในประเทศไว้ ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ

นักท่องเที่ยวจากประเทศส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องแสดงผลตรวจโควิดแบบพีซีอาร์ เพื่อเข้ามาในตุรกี และระหว่างที่มีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในตุรกี พวกเขาก็สามารถเดินทางไปข้างนอกได้ขณะที่พลเมืองชาวตุรกี หากไม่ได้ทำงานในภาคการท่องเที่ยวหรืองานที่มีความจำเป็น ก็ต้องอยู่แต่ภายในบ้าน

 

"น่าละอาย" ผู้หญิงคนหนึ่งเขียนในโพสต์ที่เธอแชร์รูปภาพของวัวตัวหนึ่งที่มีป้ายติดอยู่ที่หูทั้งสองข้าง

 

ภาพ "วัวที่ได้รับวัคซีน" ถูกส่งต่อกันอย่างรวดเร็วทางอินเทอร์เน็ต และคนจำนวนมากต่างพากันโพสต์ภาพวัว

 

Getty Images
ภาพวัวที่มีป้ายติดอยู่ที่หูกลายเป็นภาพล้อเลียนทางอินเทอร์เน็ตในตุรกี

ไม่นานนี้ ตุรกีมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบช่วงเดือน พ.ค. นาน 2 สัปดาห์

 

ประชาชนต้องการเห็นการเร่งฉีดวัคซีนที่เร็วขึ้นให้กับทุกคน

 

"1 ดอลลาร์ เท่ากับ 8.5 ลีราตุรกี" โพสต์หนึ่งทางทวิตเตอร์ระบุ "และนักท่องเที่ยว 1 คน เท่ากับ คนทำงานภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วหลายพันคน"

 

"ในฐานะชาวเติร์ก ผมไม่เคยรู้สึกอับอายขายหน้าเช่นนี้มาก่อน" คือความรู้สึกของ อิซเซต์ คาพา คอลัมนิสต์

 

นายเมวุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ปกป้องจุดยืนของรัฐบาล โดยระบุว่า ผู้คนพูดถึงเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เป็นพลเมืองตุรกีเองก็เดินทางไปเที่ยวตามชายหาดต่าง ๆ และเข้าพักในโรงแรมเช่นกัน

 

ก่อนการระบาดใหญ่ในปี 2019 นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสร้างรายได้ให้แก่ตุรกีมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 9.4 แสนล้านบาท)

 

Getty Images
รัฐบาลตุรกีต้องการเห็นนักท่องเที่ยวเต็มชายหาดในฤดูร้อนนี้

ปีนี้ รัฐบาลตุรกีต้องการจะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมา

 

"นักท่องเที่ยวนำเงินตราต่างประเทศเข้ามา และพวกเขามีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน...คุณไม่ต้องการให้พวกเขามาตุรกีและอยากให้เศรษฐกิจตกต่ำเหรอ" ผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนหนึ่งที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลระบุ

 

"ทราเวิล บับเบิ้ล" ของศรีลังกา

มีการถกเถียงที่คล้ายกันในนี้เกิดขึ้นในศรีลังกา ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก

 

ในปี 2019 การท่องเที่ยวและการเดินทางสร้างรายได้มากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท) ให้แก่เศรษฐกิจศรีลังกา หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของจีดีพี

 

การต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด ทางการได้มุ่งเน้นไปที่การนำนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้าประเทศ ขณะที่ศรีลังกากำลังต่อสู้กับไวรัสโคโรนาอยู่

 

มีประชากรในศรีลังกาที่ได้รับวัคซีนแล้วเพียง 10% เศษ และศรีลังกาก็กำลังต้องการเครื่องออกซิเจนอย่างเร่งด่วน ในจำนวนของหลายอย่างที่ต้องการเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในขณะนี้

 

Getty Images
ศรีลังกามีแผนที่จะนำนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเข้ามาด้วยการ ปิดกั้นพื้นที่ขนาดใหญ่ให้เป็น "เขตท่องเที่ยว"

แต่การเห็นชาวต่างชาติมีความสุขกับการท่องเที่ยว ขณะที่ชาวศรีลังกากำลังมีชีวิตอยู่ด้วยข้อจำกัดเพื่อป้องกันการระบาดของโควิดหลายอย่าง ทำให้คนบางส่วนรู้สึกไม่สบายใจ

 

ในปีนี้ เมื่ออารูนา อาเบย์กูนาวาร์ดีน เดินทางกลับมาถึงศรีลังกา หลังจากเข้ารับการผ่าตัดที่เยอรมนี เขาต้องกักตัวในโรงแรมที่รัฐบาลกำหนดอย่างเข้มงวดนาน 2 สัปดาห์

 

"ผมได้รับอนุญาตให้เดินไปที่เพียงประตูห้องของโรงแรมผมเท่านั้น" เขาบอกกับบีบีซี

 

"ผมถูกล็อกอยู่ข้างใน แต่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากบนชายหาดของศรีลังกา"

 

ขณะที่กำลังเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ในห้องพักของโรงแรม อารูนา บอกว่า เขาเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังสนุกกับการว่ายน้ำในทะเล พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธหลายคนคอยดูพวกเขาอยู่ใกล้ ๆ นั่นคือกลุ่มชาวยูเครนที่เพิ่งเดินทางมาถึงศรีลังกาในโครงการของรัฐบาล ก่อนที่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียจะเดินทางมา

 

Getty Images
การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวยูเครน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในศรีลังกา

โครงการนี้มีชื่อเรียกว่า "ทราเวิล บับเบิ้ล" (travel bubble) ซึ่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศหลังจากกักตัวเพียงไม่กี่วัน ขณะที่พลเมืองชาวศรีลังกาต้องกักตัวนานกว่ามากเมื่อเดินทางเข้าประเทศ

 

"มันเหมือนกับการปฏิบัติต่อชาวศรีลังกาเป็นพลเมืองชั้นสอง" อารูนา กล่าว "ผมรู้จักหลายคนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมกระทั่งงานศพของพ่อแม่ตัวเอง แต่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ"

 

เรื่องที่ว่าญาติของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกา เป็นผู้นำกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยูเครนกลุ่มนี้เข้ามาในประเทศ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น

 

ช่วงที่คนในประเทศหลายพันคนถูกจับกุมตัวเพราะละเมิดมาตรการกักตัวและล็อกดาวน์ มีการแสดงความเห็นอย่างดุเดือดทางโซเชียลมีเดีย

 

Getty Images
มีผู้เสียชีวิตจากโควิดในศรีลังกามากกว่า 1,000 คนแล้ว และมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,000 ต่อวัน

วาซันทา ซามาราซิงเฮ นักการเมืองฝ่ายค้าน รู้สึกว่าถูกหักหลัง "คุณต้องการให้ประชาชนศรีลังกาทุกคนกักตัวเอง เพื่อที่นักท่องเที่ยวจะได้ออกไปเที่ยวได้เหรอ" เขาถาม

 

อูดายังกา วีระทุนกา ญาติของประธานาธิบดีซึ่งจัดการนำเที่ยวนี้ ตอบข้อความทางเฟซบุ๊กว่า เขารู้สึกผิดหวังที่ผู้คนไม่เห็นความสำคัญของนักท่องเที่ยว

 

"พวกเขาไม่เข้าใจว่า การนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศในช่วงเวลานี้ยากเย็นขนาดไหน" เขาเขียน

เอ็มเร อาซิสเลอร์ลี ร่วมรายงาน

 

........

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือระหว่างสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง